10 อันดับกลุ่มกองทุนมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงสุดแบ่งตาม Morningstar category
กลุ่มกองทุนที่มีขนาดใหญ่สุด 10 กลุ่มแรกมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกัน 3.7 ล้านล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดรวม 86% กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น (Short Term Bond) ยังคงมีมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดราว 1.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% จากปี 2018 โดยกองทุนกลุ่มนี้มีเงินไหลเข้ามากในช่วงครึ่งหลังของปีแบ่งเป็นไตรมาส 3 ราว 3.3 หมื่นล้านบาทและ 5.8 หมื่นล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ด้านกองทุนกลุ่ม Mid/Long Term Bond เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างดีที่ 41.3% และเป็นกลุ่มมีเงินไหลเข้าสูงสุดของปีโดยมีเงินไหลเข้ามากในลักษณะเดียวกันกับกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น
แม้ปีนี้ผลตอบแทนจากหุ้นไทยจะถือว่าต่ำกว่าตลาดหุ้นประเทศอื่นแต่นักลงทุนไทยยังคงให้ความสนใจโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายที่ดัชนี SET Index มีการปรับตัวลงพร้อมทั้งเป็นช่วงฤดูกาลลงทุนของกองทุน LTF เป็นส่วนทำให้กลุ่ม Equity Large-Cap ยังคงมีการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิที่ 5.9% ไปอยู่ที่ 7.3 แสนล้านบาท มีมูลค่าทรัพย์สินเป็นอันดับสอง
กลุ่ม Aggressive Allocation ที่มีนโยบายการลงทุนยืดหยุ่นแต่จะเน้นไปที่ตราสารทุน มีการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสูงสุดในหมวดกองผสมหรือ 55.5% ไปที่ 2.1 แสนล้านบาทแต่จะเป็นการเติบโตเฉพาะในบางกองทุน โดยไม่ได้เป็นการเติบโตของทั้งกลุ่ม
10 อันดับกลุ่ม Morningstar Categories ที่มีเงินไหลเข้า-ออกสุทธิมากที่สุด
ภาพรวมเงินไหลเข้าสุทธิของทั้งปีเป็นเงินไหลเข้ากองทุนที่ลงทุนในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยใน 5 อันดับแรกของกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดนั้นมีเพียงกลุ่ม Property Indirect Global ที่เป็นกองทุนต่างประเทศ กลุ่ม Mid/Long Term Bond และ Short Term Bond เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลสุทธิสูงสุด 2 อันดับแรกของปีที่ 7.0 หมื่นล้านบาท และ 5.4 หมื่นล้านบาทตามลำดับ และทั้งสองกลุ่มมีเงินไหลเข้ามากในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยด้านทิศทางดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไปจากปี 2018 หรือความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ทำให้นักลงทุนหันมาสนใจตราสารหนี้มากขึ้น รวมทั้งการจัดเก็บภาษีกองทุนตราสารหนี้ที่จะทำให้ผลตอบแทนค่อย ๆ ลดลงได้ในอนาคตเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนปรับสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้มากขึ้น
กองทุน TMB Aggregate Bond เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท สูงสุดของกลุ่ม Mid/Long Term Bond และเป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในอุตสาหกรรมประจำปี 2019 ในขณะที่กลุ่ม Short Term Bond มีกองทุน TMB Ultra Short Bond เป็นกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดที่ 3.1 หมื่นล้านบาท และมีเงินไหลเข้าสุทธิสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของอุตสาหกรรม
กลุ่ม Aggressive Allocation เป็นกลุ่มที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดสำหรับประเภทกองทุนผสมจากเงินไหลเข้าสุทธิ 5.2 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินไหลเข้ากองทุนจาก บลจ. ไทยพาณิชย์ 2 กองเป็นหลักคือ SCB Income Plus (มีเงินไหลเข้าสุทธิ 3.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรม) และ SCB Multi Income Plus A รวมกันราว 5.0 หมื่นล้านบาท
กลุ่ม Property - Indirect Global เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถดึงดูดเงินจากนักลงทุนได้สูงกว่ากลุ่มหุ้นไทยอย่าง Equity Large-Cap ไปได้ ซึ่งเกิดจากลักษณะผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุนเช่น REIT ที่มีการจ่ายเงินปันผลเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำจึงเป็นส่วนทำให้นักลงทุนสนใจ ประกอบกับหลาย บลจ. มีการสื่อสารกับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับลักษณะกองทุนกลุ่มนี้ทำให้มีเงินไหลเข้าสูงถึง 5.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติเงินไหลเข้าสูงสุดของกลุ่มนี้
ทางด้านเงินไหลออกสุทธิสูงสุด 10 อันดับนั้นมีเพียง 3 กลุ่มที่เป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศคือ Money Market, Bond Fix Term, และ Conservative Allocation ซึ่งล้วนแต่เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ส่วนอีก 7 กลุ่มนั้นล้วนแต่เป็นกองทุน FIF โดย Global Allocation และ Global Bond ที่ยังคงเป็นกลุ่มที่มีเงินไหลออกสุทธิของปี ที่ -3.5 และ -2.2 หมื่นล้านบาทตามลำดับ