กองทุน SSF

เมื่อวานนี้กระทรวงการคลังประกาศรูปแบบกองทุน SSF ออกมาแล้ว เราลองมาดูสาระสำคัญของกองทุน SSF กันค่ะ

Morningstar 04/12/2562
Facebook Twitter LinkedIn

รูปแบบกองทุนที่จะมาแทนที่ LTF เป็นหนึ่งในเรื่องที่ได้รับความสนใจไม่น้อยสำหรับวงการกองทุนรวมและล่าสุดทางกระทรวงการคลังก็ได้ประกาศรูปแบบกองทุนใหม่ออกมาเป็นที่เรียบร้อยนั่นก็คือกองทุน Super Savings Fund (SSF) โดยมีสาระสำคัญดังนี้

1 ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท ซึ่งได้แก่ RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ และประกันชีวิตแบบบำนาญ

2 กองทุน SSF นี้จะมีเงื่อนไขการถือครองที่ยาวขึ้นเป็น 10 ปีนับจากวันที่ซื้อจากเดิม 7 ปีปฏิทิน

3 กองทุน SSF จะลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภทจากเดิมที่ LTF จะเน้นหุ้นไทย

4 ไม่มีจำนวนขั้นต่ำการซื้อหน่วยลงทุนและไม่มีเงื่อนไขซื้อต่อเนื่อง

5 เงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุน SSF จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข

6 สามารถนำมูลค่าซื้อหน่วยกองทุน SSF ในแต่ละปีไปลดหย่อนภาษีได้ในช่วงปี 2563-2567 (2020-2024) และหลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะพิจารณามาตรการตามความเหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักเกณฑ์ลงทุน RMF เพิ่มเดิมคือ

1 ปรับจำนวนค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF สูงสุดเป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินจากเดิม 15% แต่เป็นไปตามเงื่อนไข 500,000 บาทเมื่อรวมกับกองทุนอื่น ๆ จากที่กล่าวไปด้านบน

2 ยกเลิกกำหนดจำนวนการซื้อกองทุน RMF ขั้นต่ำแต่ยังคงเงื่อนไขซื้อต่อเนื่องและเว้นได้ไม่เกิน 1 ปีเช่นเดิม

สำหรับกองทุน LTF เดิมนั้นก็เป็นที่แน่นอนแล้วว่าปี 2562 นี้เป็นปีสุดท้ายสำหรับการซื้อเพื่อประหยัดภาษี แต่กระทรวงการคลังได้เสนอกฎหมายเพื่อให้นักลงทุนไม่ต้องเสียภาษีในส่วนของกำไรจากการขายหน่วยลงทุนกองทุน LTF ซึ่งจะเหมือนกับกองทุนรวมทั่วไป

จากข้อมูลกองทุน SSF นี้มีประเด็นที่น่าสนใจประเด็นแรก คือ การลดหย่อนได้มากขึ้นจาก 15% เป็น 30% ของเงินได้พึงประเมินแต่ยอดสูงสุดนั้นต่ำลงจาก 500,000 บาทเป็น 200,000 บาท นั่นหมายความว่ากองทุน SSF นี้จะมีประโยชน์กับประชาชนกลุ่มใหญ่คือผู้ที่มีรายได้ไม่สูงมากนัก โดยจะทำให้นำมูลค่าการลงทุน SSF ไปลดหย่อนได้มากขึ้นและเสียภาษีน้อยลง

ประเด็นที่สองคือเงื่อนไขการรวมมูลค่าหน่วยลงทุน SSF กับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ สูงสุด 500,000 บาท ที่อาจกระทบกับการเติบโตของกองทุน RMF ยกตัวอย่างเช่น 1) กรณีประชาชนกลุ่มรายได้ปานกลางเลือกลงทุน SSF เต็มตามเกณฑ์สูงสุดและมีการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วอาจขาดสภาพคล่องเพื่อลงทุนกองทุน RMF และ 2) กรณีกลุ่มรายได้สูงที่ยังไม่เข้าใกล้วัยเกษียณอาจเลือกลงทุน SSF ก่อนเพราะมีระยะการถือครองที่สั้นกว่าและเมื่อรวมกับมูลค่าการลงทุนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วจะทำให้ซื้อกองทุน RMF ได้น้อยลง (ส่วนต่างที่เหลือจากการลงทุน SSF และ PVD แล้ว)

ประเด็นสุดท้ายคือ การถือครองที่ยาวขึ้นซึ่งเป็นความตั้งใจของทางภาครัฐที่สนับสนุนให้ประชาชนออมเงินระยะยาว รวมทั้งยังคงได้ประโยชน์ทางภาษี อย่างไรก็ตามด้วยระยะการถือครอง 10 ปีกับปริมาณการออมต่อปีที่มากขึ้น นักลงทุนควรพิจารณาด้านสภาพคล่องส่วนตัวประกอบไปด้วย

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar