เงินไหลเข้ากองทุนยั่งยืนในสหรัฐฯอย่างต่อเนื่อง
ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้กองทุนที่ลงทุนอย่างยั่งยืนในสหรัฐอเมริกาในรับความสนใจอย่างมาก โดยทำสถิติเงินไหลเข้าสูงถึง 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่ามูลค่าเงินไหลเข้าของทั้งปี 2018 ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแปลว่าปีนี้กองทุนกลุ่มนี้จะเติบโตต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 โดยในไตรมาส 2 ที่ผ่านมากองทุน iShares ESG MSCI USA Leaders ETF (Morningstar Sustainability Rating: 4 ลูกโลก) มีเงินไหลเข้าสูงสุดที่ 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้กองทุนจาก iShares (BlackRock) มีเงินไหลเข้าสุทธิในไตรมาส 2 สูงสุดรวม 2.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากข้อมูลนี้นักลงทุนอาจเริ่มสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืนกันขึ้นมาบ้างแล้ว แต่อาจยังไม่ทราบว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนหรือที่หลายคนพูดถึง ESG นั้นคืออะไรกันแน่ ซึ่ง ESG นั้นก็ประกอบด้วย Environmental (E) หรือสิ่งแวดล้อม, Social (S) สังคม และสุดท้าย Governance (G) หรือธรรมาภิบาล ซึ่งโดยหลักการแล้วเราทุกคนก็ต้องการเลือกลงทุนในบริษัทที่ดี โดยปัจจัยทั้ง 3 นี้ก็เป็นตัววัดอย่างหนึ่งว่าบริษัทนั้น “ดี” แค่ไหน
ทางด้านสิ่งแวดล้อมนั้นก็เป็นการดูว่ากระบวนการทำงานของบริษัทส่งผลกระทบต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากน้อยเพียงใด ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ทางด้านสังคมนั้นก็อาจดูที่การดูแลสวัสดิภาพของพนักงาน ความปลอดภัยในการทำงานไปจนถึงการให้ความเท่าเทียมกันระหว่างพนักงานที่มาจากต่างสังคมกันเป็นต้น และด้านสุดท้ายคือธรรมาภิบาลก็จะให้ความสำคัญที่ผู้บริหารบริษัทเช่น ด้านความซื่อสัตย์ นักลงทุนสามารถไว้ใจได้มากน้อยเพียงใดเป็นต้น หากบริษัทมีการจัดการเรื่องดังกล่าวได้ดี ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่ดี มีความเป็นไปได้ที่จะสามารถทำธุรกิจและสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน
แล้ว ESG สำคัญอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้นเริ่มส่งผลให้เราเห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น โลกร้อนขึ้นอย่างในปีนี้ทางฝั่งยุโรปต้องเผชิญคลื่นความร้อน หรือในตอนนี้ทวีปอเมริกาเหนือกำลังเผชิญกับพายุเฮอร์ริเคนโดเรียนที่สร้างความเสียหายอย่างมาก นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว เราทุกคนก็ต้องการอยู่ในสังคมที่มีความยุติธรรมและการบริหารงานอย่างโปร่งใสและซื่อสัตย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การลงทุนอย่างยั่งยืนจึงถือเป็นทางหนึ่งที่แสดงถึงความคาดหวังของนักลงทุนต่อบริษัทต่าง ๆ
ทำไมจึงได้รับความสนใจมากขึ้น
ในยุคปัจจุบันอินเตอร์เน็ตและ social media ช่วยให้คนตื่นตัวและรับรู้ปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ยกตัวอย่างในประเทศไทยเองเมื่อเดือนสิงหาคมข่าวพยูนมาเรียมที่ได้รับผลกระทบจากขยะพลาสติกซึ่งก็ช่วยให้เราได้ตระหนักถึงผลกระทบจากมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ทางด้านคนรุ่นใหม่เองก็ให้ความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษเพราะจะเป็นกลุ่มที่ต้องการอยู่อาศัยและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ต่อไปในอนาคต
ทางกองทุนรวมนั้นนักลงทุนบางท่านอาจจะพอทราบเกี่ยวกับ Morningstar Sustainability Rating ซึ่งเป็นการให้เรตติ้งกองทุนโดยใช้เกณฑ์ด้าน ESG มาใช้ในการจัดอันดับในรูปแบบลูกโลกจำนวน 1-5 ลูกโลก กองทุนรวมไทยนั้นมีจำนวนกองทุนที่ได้รับการจัด Morningstar Sustainability Rating เพิ่มขึ้นใน 4 ไตรมาสที่ผ่านมา และ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2019 มีทั้งสิ้น 757 กองทุน แบ่งออกเป็นกองทุนที่ลงทุนในประเทศไทย 378 กองทุนและกองทุนต่างประเทศ 379 กองทุน โดยมีกองทุนที่ได้เรตติ้ง 5 ลูกโลกรวม 44 กองทุน เป็นกองทุนกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) 21 กองทุน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ที่มา : Morningstar Direct, ข้อมูล ณ 30 มิถุนายน 2019
(หมายเหตุ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 มีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์กองทุนที่ใช้ในการเปรียบเทียบทำให้จำนวนกองทุน FIF ในไตรมาสดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2018 อย่างมีนัยสำคัญ)
กองทุนกลุ่ม Equity Large-Cap ที่ได้ Morningstar Sustainability Rating ระดับสูง (5 ลูกโลก)
ที่มา : Morningstar Direct, ข้อมูล Morningstar Rating ณ 31 กรกฎาคม 2019, ผลตอบแทนสะสมมกราคม-กรกฎาคม 2019
(หมายเหตุ กองทุนที่ไม่มี Morningstar Rating คือกองทุนที่มีอายุไม่ถึง 3 ปี)
จากตัวอย่างด้านบนนี้กองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating 5 ลูกโลกอาจมีผลตอบแทนและ Morningstar Rating (ดาว) ที่แตกต่างกัน ดังนั้นนักลงทุนอาจใช้ ESG เป็นปัจจัยในการพิจารณากองทุนร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ในการตัดสินใจในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนนั่นเอง