DIY เลือก LTF

ใครกำลังมองหาเทคนิคในการเลือก LTF อยู่เชิญมาทางนี้ได้เลยครับ 5 ขั้นตอนง่ายๆทำได้ด้วยตัวเอง

Facebook Twitter LinkedIn

          เหลือเพียง 6 สัปดาห์เท่านั้นแล้วก็จะหมดปี 2560 นี้ นักลงทุนท่านใดที่ยังไม่ได้ลงทุนใน LTF ในปีนี้กัน (ซึ่งเท่าที่มอร์นิ่งสตาร์เราดูจากเม็ดเงินไหลเข้า/ออกล่าสุดก็ต้องบอกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ลงทุนกันเลย) ก็ต้องรีบกันหน่อยนะครับเดี๋ยวจะไม่ทัน และสำหรับใครที่กำลังมองหาตัวช่วยหรือเทคนิคในการคัดเลือกกองทุน LTF อยู่ละก้อ วันนี้เรามีเทคนิคง่ายๆสามารถทำได้ด้วยตัวเอง (DIY) มาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้ท่านสามารถนำไปปรับใช้เลือกลงทุนใน LTF ช่วงท้ายของปีนี้

1. ผมอยากจะเริ่มต้นกันที่เรื่องของความเสี่ยงเพราะเนื่องจากเป็นจุดที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่มักจะมองข้ามกันไปทั้งๆที่มีความสำคัญอยู่มาก โดยที่ปัจจุบันนี้กองทุน LTF อาจจะแบ่งระดับความเสี่ยงได้ง่ายๆออกเป็น 2 กลุ่มคือ 1. กลุ่มที่มีเหมาะสมสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลาง ซึ่งกลุ่มนี้ก็คือ กองทุนที่เราจะคุ้นเคยกันในชื่อว่า กองทุนประเภท 70/30 นั้นเอง ซึ่งกองทุนเหล่านี้ก็จะมีนโยบายลงทุนในหุ้นเพียงประมาณ 70% เท่านั้นและอีก 30% ก็จะลงทุนในตราสารหนี้ 2. กลุ่มที่เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูงซึ่งก็จะคล้ายๆกับกองทุนหุ้นแบบปกติทั่วไปซึ่งก็จะถือหุ้นอยู่มากกว่า 90% ขึ้นไปนั้นเอง

2. จากนั้นเราก็มาดูกันที่ลักษณะของหุ้นที่กองทุน LTF นั้นๆนำเงินไปลงทุน ซึ่งเราสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักๆนั้นก็คือ 1. กลุ่มกองทุน LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ หรือ บริษัทที่มี market cap สูงๆนั้นเอง 2. กลุ่มกองทุน LTF ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็ก หรือ บริษัทที่มี market cap กลางและเล็ก ซึ่งหลักในการเลือกว่าเราจะลงทุนในกลุ่มไหนนั้นอาจะทำได้ดังนี้คือ ตรวจสอบพอร์ตลงทุน LTF ของท่านที่ผ่านมาว่าส่วนใหญ่นั้นลงทุนในหุ้นแบบไหน ตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าท่านลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่มาโดยตลอดแล้วนั้น ปีนี้ก็น่าจะลองกระจายการลงทุนมาลงทุนในหุ้นขนาดกลางและเล็กดูบ้างเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอนั้นเอง ส่วนถ้าใครเพิ่งจะลงทุนในปีนี้เป็นปีแรกก็ลองแบ่งเงินออกเป็น 2 ส่วนแล้วนำไปลงทุนทั้งกองทุน LTF ทั้ง 2 ประเภทก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

3. เลือกกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้ดีอย่างสม่ำเสมอซึ่งตรงนี้ท่านสามารถลองเข้ามาหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.morningstarthailand.com หรือดูจากหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปของกองทุนรวมนั้นก็ได้ โดยผมอยากจะเน้นให้ท่านดูตรงผลตอบแทนย้อนหลังรายปีเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดของกองทุนและเลือกเอากองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงกว่าดัชนีชี้วัดอย่างสม่ำเสมอในแต่ละปี ซึ่งนี้จะเป็นเครื่องมือวัดฝีมือของผู้จัดการกองทุนได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างผลตอบแทนจาก www.morningstarthailand.com ที่ล้อมกรอบหมายถึงกองทุนสามารถทำผลตอบแทนได้ดี (+) หรือแย่ (-) กว่า Index ในแต่ละปีเป็นจำนวนกี่ %

2017 11 21 1547

4. เลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมถูก โดยตรงจุดนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆเพราะมันคือ ต้นทุนทางการลงทุนของเรานั้นเอง โดยค่าธรรมเนียมนี้นั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ 1. ส่วนที่เรียกเก็บเพียงครั้งเดียวนั้นก็คือ ค่าธรรมเนียมซื้อ/ขายกองทุน 2. ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของกองทุนรวม (Total Expense Ratio%) ซึ่งจะเรียกเก็บออกจากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนเป็นรายปี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ถ้ากองทุนเก็บเราน้อยๆ ผลกำไรก็จะเหลือถึงเราเยอะนั้นเอง โดยท่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็ปไซต์มอร์นิ่งสตาร์ หรือตาม fund factsheet 

2017 11 21 1547 001

5. สุดท้าย เมื่อท่านคัดเลือกกองทุนได้แล้วนั้นอาจจะถือโอกาสนี้ลองเข้าไปพูดคุยกับตัวแทน บลจ. หรือผู้จัดการกองทุนเพื่อข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติม เช่น มุมมองและปรัชญาในการลงทุน เทคนิคในการคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่เราจะได้เข้าสไตล์ในการลงทุนของแต่ละกองทุนและเพื่อเป็นการ confirm อีกทีหนึ่งว่าเราเข้าใจการลงทุนของกองทุนนั้นๆอย่างแท้จริง จะได้ไม่เกิดความคาดหวังที่ผิดผลาดจากการลงทุน

ท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านโชคดีกับการลงทุนในปีนี้และทุกครั้งอย่าลืมหาข้อมูลการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุนนะครับ 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst