หนังสือชี้ชวนกองทุนรวม version ใหม่

ใครเคยอ่านหนังสือชี้ชวนกองทุนรวมกันบ้างครับ? ทำไมนักลงทุนถึงไม่ค่อยจะอ่านกัน? ความสำคัญของเอกสารฉบับนี้คือะไรตามมาดูกันครับ

Facebook Twitter LinkedIn

           พอฟังชื่อคำว่า หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป เชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงอาจจะทำหน้างงๆกันว่ามันคืออะไร แต่สำหรับนักลงทุนที่ลงทุนกองทุนรวม ผมเชื่อส่วนใหญ่ต้องรู้จักหรือถ้าไม่รู้จักก็ต้องเคยเห็นผ่านตาแต่อาจจะไม่รู้ชื่ออย่างเป็นทางการของเอกสารฉบับนี้ ใครรู้จักแล้วหรือยังไม่รู้จักก็ไม่เป็นไรครับแต่วันนี้ผมมีข่าวคราวของเจ้าเอกสารฉบับนี้มาเล่าสู่กันฟังครับ

หนังสือชี้ชวนส่วนสรุป คืออะไร??? สั้นๆครับ มันคือเอกสารอย่างเป็นทางการที่ให้ข้อมูลที่สำคัญของกองทุนรวมนั้นๆ เอาเป็นว่าง่ายๆเลยสำหรับนักลงทุนที่เคยลงทุนในกองทุนรวม ท่านจะต้องๆได้รับเอกสารฉบับนี้จากเจ้าหน้าที่ผู้ขายกองทุนรวมก่อนที่ท่านจะทำการลงทุน (ตามเกณฑ์ของ สำนักงาน ก.ล.ต)

แล้วข้อมูลสำคัญที่ว่าประกอบไปด้วย อาทิเช่น ประเภทกองทุน นโยบายการลงทุน พอร์ตโฟลิโอการลงทุนค่าธรรมเนียม วิธีการลงทุน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกองทุน ผู้จัดการกองทุน ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับกองทุน  และข้อมูลอื่นๆอีกมากมาย

ซึ่งพอเห็นข้อมูลดังกล่าวแล้วนั้น ต้องยอมรับว่าปัญหาที่สำคัญของเอกสารฉบับนี้ในอดีตที่ผ่านมานั้นก็คือ เนื้อหามันค่อนข้างเยอะและยาวมากเป็นจำนวนหลายหน้ากระดาษ ภาษาที่ใช้สื่อสารก็เป็นภาษาที่ค่อนข้างเป็นทางการ ตัวหนังสือเยอะไปหมด ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนบางส่วนละเลยที่จะทำการอ่านข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นเอกสารดังกล่าวไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างจริงจังในทางปฎิบัติซึ่งต้องบอกเลยว่า ตรงจุดนี้ถือว่านักลงทุนพลาดเพราะท่านกำลังลงทุนโดยที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างดีก่อนซึ่งนั้นก็เป็นที่มาของความเสี่ยงอย่างหนึ่งนั้นเอง

อดีตผ่านไปแล้ว มาวันนี้ทางสำนักงาน ก.ล.ต ได้มีการปรับปรุงเอกสารฉบับดังกล่าวนี้ขึ้นมาใหม่โดยมีกำหนดให้ใช้อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป โดยที่กองทุนที่จัดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้จะต้องนำเสนอเอกสารนี้ในรูปแบบใหม่ และสำหรับกองทุนเดิมที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วก็ต้องทยอยปรับไปตามลำดับ

โดยที่เอกสารฉบับดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ต่อผู้ลงทุนมากที่สุด โดยสาระสำคัญหลักๆของการเปลี่ยนแปลงคือ การทำให้เอกสารดูง่ายต่อการเข้าใจทั้งในรูปแบบของภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร รูปภาพหรือกราฟต่างๆที่นำมาประกอบเพื่อสื่อสารให้ผู้ลงทุนเข้าใจตัวเลขทางสถิติต่างๆที่ยากให้เป็นเรื่องง่าย อีกทั้งยังมีการเพิ่มข้อมูลใหม่ๆโดยเฉพาะตัวเลขสถิติที่จะแสดงถึงความเสี่ยงให้ชัดเจนมายิ่งขึ้น

ซึ่งส่วนหนึ่งของรายละเอียดต่างๆของการปรับกฎเกณฑ์และรูปแบบในการนำเสนอข้อมูลในหนังสื่อชี้ชวนส่วนสรุปฉบับใหม่มีดังต่อไปนี้

  • ปรับเกณฑ์การระบุความเสี่ยงของกองทุน (risk spectrum) เช่น กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนใน non-investment grade/unrated มากกว่า 80% และกองทุนผสมที่เน้นลงทุนในหุ้น ถูกจัดอยู่ในความเสี่ยงสูงระดับ 6 เท่ากับกองทุนหุ้น
  • แสดงความเสี่ยงของกองทุนในรูปแบบของรูปภาพแทนคำอธิบาย เช่น ค่าความผันผวนของผลการดำเนินงาน (SD), อายุเฉลี่ยและอันดับความน่าเชื่อถือของทรัพย์สินที่ลงทุน (ในกรณีกองทุนตราสารหนี้) เป็นต้น

SD

  • ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวม ค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นจะต้องเป็นอัตราที่รวม VAT หรือภาษีอื่นๆแล้ว และนำเสนอเป็นกราฟแท่ง รวมทั้งต้องนำเสนอข้อมูลในอดีตย้อนหลัง 3ปีด้วย
  • ผลการดำเนินงานกองทุนรวม - ต้องนำเสนอข้อมูลด้วยกราฟแท่งเปรียบเทียบระหว่างผลการดำเนินงานกองทุนกับดัชนีชี้วัดพร้อมทั้งเปิดเผยค่าความเสี่ยงเพิ่มเติมเช่น ผลขาดทุนสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงในรอบ 5ปี (Maximum drawdown)

Return

  • กองทุนต้องมีการเปิดเผยค่า portfolio turnover หรือ อัตราส่วนหมุนเวียนการลงทุนของกองทุนรวม และอื่นๆ

อย่างไรก็ตามนี้ถือเป็นความตั้งใจของทางสำนักงาน ก.ล.ต และอุตสาหกรรมกองทุนรวมที่จะทำการปรับปรุงข้อมูลต่างๆให้เกิดประโยชน์และโปร่งใสที่สุดต่อผู้ลงทุนในกองทุนรวม ต่อจากนี้ไปต้องเป็นหน้าที่ของผู้ลงทุนที่จะต้องอ่าน ศึกษาและทำความเข้าใจ (และถ้าไม่เข้าก็ต้องถามเจ้าหน้าที่) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อการลงทุนของตัวท่านเอง

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst