ขณะนี้หน้า “จัดการพอร์ตโฟลิโอ” อยู่ในระหว่างปรับปรุงและดำเนินการเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติอย่างเร่งด่วน ทางมอร์นิ่งสตาร์ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

สรุปภาพรวมกองทุนรวมครึ่งแรกปี 2560

กองทุนไทยโตต่อเนื่อง เงินไหลเข้าครึ่งแรกของปีกว่า 163,155 ล้านบาท แต่นักลงทุนนิยมนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ

Facebook Twitter LinkedIn

          อุตสาหกรรมกองทุนไทยโตอย่างต่อเนื่องจบครึ่งปีแรกโต 3.64% ทำให้ยอดมูลค่าทรัพยสินสุทธิกองทุนรวมไทยมาปิดที่ 4.82 ล้านล้านบาท นักลงทุนเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเพิ่มในไตรมาส 2 ทำให้ยอดเงินไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น138,282 ล้านบาท

อุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย

          หลังจากเปิดไตรมาสแรกของปีไปด้วยความกังวลที่มีต่อทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศไม่ว่าเป็นเรื่องของ การผิดนัดชำระเงินของตั๋ว B/E ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เรื่องของ Fed ขึ้นดอกเบี้ยและการเลือกตั้งของหลายประเทศใหญ่ในยุโรป ดูเหมือนว่านักลงทุนจะเริ่มมีความเข้าใจต่อสถานการณ์เพิ่มมากขึ้นส่งผลให้เริ่มมีการนำเงินกลับมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นในไตรมาสที่ 2 แต่อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงการเน้นลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงหรือเน้นการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงมากกว่าการลงทุนแบบกระจุกตัว

ปิดครึ่งแรกปี 2560 นี้กองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 138,282 ล้านบาท โดยที่นักลงทุนส่วนใหญ่หันไปให้ความสนใจต่อการไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากกว่าลงทุนใประเทศไทย โดยครึ่งปีแรกนี้มีเงินไหลไปลงทุนในต่างประเทศสุทธิคิดเป็น 163,155 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนขายสินทรัพย์ในประเทศออกรวมกว่า -24,873 ล้านบาท  อย่างไรก็ตามหากมองในภาพรวมแล้วนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังความนิยมลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงหรือเน้นการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความระมัดระวังในการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี โดยกองทุนประเภท Foreign Investment Bond Fix Term, Global Bond (โดยเฉพาะกองทุนจำพวก Global Income) และ Short Term Bond นั้น ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ในทางกลับกันความกังวลต่อสถานการณ์การผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้จำพวกตั๋ว B/E ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการลงทุนในตราสารดังกล่าวเป็นผลให้ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนในกลุ่มดังกล่าว (High Yield Bond) นี้มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงไม่ถึง 90,000 ล้านบาท จากที่เคยสูงสุดกว่า 520,000 ล้านบาท

โดยหากมองไปยัง 5 อันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในครึ่งปีแรกนี้จะสังเกตได้ว่าเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางทั้งสิ้นซึ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนนั้นยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์การลงทุนอยู่มาก

TopBottomFlow

ขณะที่การลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) นั้นก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปีนี้มีกองทุนเปิดใหม่แล้วกว่า 30 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 32.57% และมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งกลุ่มแล้วกว่า 163,155 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิสูงเป็นสถิติที่ 525,620 ล้านบาท ซึ่งเทียบได้กับเงินลงทุนใน LTF และ RMF รวมกัน

อย่างไรก็ตามการเติบโตในส่วนของเงินลงทุนในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะมาจากกองทุนหลักเพียง 2 กลุ่มนั้นก็คือ กลุ่ม Global Bond และ กลุ่ม Global Allocation ที่ครึ่งปีแรกมีเงินไหลเข้า 81,487 และ 35,932 ล้านบาทตามลำดับ รวมทั้งการลงทุนในหุ้นต่างประเทศแบบกระจายการลงทุนทั้งในกลุ่ม Emerging Market และ Global Equity ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ใช้โอกาสปรับพอร์ตการลงทุนขายทำกำไรและลดความเสี่ยงลงจากกลุ่มหุ้นต่างประเทศ (Global Health Care, Europe Equity, China Equity, Japan Equity และ Asia Pacific ex-Japan Equity) ที่ปรับตัวขึ้นมาสูงในช่วงครึ่งปีแรกนี้

FIFFlow

ทั้งนี้ภาพรวมของสินทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้นั้นมี market share % เพิ่มขึ้นจาก 14.33% เป็น 27.34% ซึ่งเป็นผลมาจากความนิยมของกองทุนในกลุ่ม Global Bond เป็นหลัก ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตราสารทุนนั้นลดลงจาก 48.07% เหลือเพียง 37.33% เท่านั้น ในขณะที่กลุ่มกองทุนที่มีส่วนแบ่ง market share มากที่สุด 3 อันดับนั้นก็คือ กลุ่ม Global Allocation (28.05%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 147,440 ล้านบาท) กลุ่ม Global Bond (26.60%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 139,776 ล้านบาท) และกลุ่ม Global Health Care (9.43%, มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 49,570 ล้านบาท)

ขณะที่มูลค่า market share % ของกลุ่มดังกล่าวนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างนัยยะสำคัญเช่นกัน โดยที่ บลจ. ทหารไทย  (19.88%) และ บลจ. ไทยพาณิชย์ (18.00%) มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ขยับเข้าใกล้ บลจ. กสิกรไทย (25.34%) ที่เป็นแชมป์ใกล้เข้าไปทุกที

และหากจะพูดถึง บลจ. ต่างประเทศ ที่กองทุนไทยนิยมไปลงทุนมากที่สุดผ่านกองทุนประเภท FIFs แบบ Master-Feeder ซึ่งปัจจุบันมีมากกว่า 40 บริษัททั่วโลก โดย PIMCO นั้นมีสินทรัพย์นำโด่งเป็นผลมาจากความสำเร็จกับกองทุน PIMCO GIS Income ที่หลายกองทุนไทนนิยมนำเงินไปลงทุนกันจนทำให้ปัจจุบัน PIMCO บริหารเงินนักลงทุนไทยกว่า 111,790 ล้านบาท เรียกได้ว่ามีสินทรัพย์มากกว่าหลายๆ บลจ. ไทยด้วยซ้ำไป ขณะที่ บลจ. ชั้นนำอื่นของโลกอาทิ JP Morgan, State Street, Deutsche และ BlackRock ก็ได้รับความนิยมในลำดับถัดมา

TopFIFAM

หันกลับมามองที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) กันบ้างหลังจากที่ค่อนข้างคึกคักในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความนิยมเริ่มแผวลงไปทันที โดยในไตรมาส 2 นี้มีเงินไหลเข้าเพียงสุทธิ 173 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีมีเงินไหลเข้าสุทธิรวม 10,864 ล้านบาท โดยที่แบ่งเป็นเข้ากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 3,124 ล้านบาทและกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid Cap) 7,740 ล้านบาท

ทั้งนี้ประเภทกองทุนหุ้นไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดช่วงครึ่งปีแรกนี้คือ กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นปันผล (Dividend Stock) และกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ (Low Volatility)

ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ

ในส่วนของผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้นั้น เกือบทุกกลุ่มกองทุนสามารถทำผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้งหมดเว้นเพียงแต่กลุ่มกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy, -19.14%) และกลุ่มกองทุนที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ (Property Indirect, -1.64%) เท่านั้นที่มีผลตอบแทนติดลบ

โดยที่กลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นั้นล้วนแต่เป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งสิ้นนำมาโดยกองทุนกลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity, กลุ่ม China Equity และ กลุ่ม Global Health Care ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงถึง 15.46%, 14.07% และ 13.42% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap ยังคงมีความผันผวนอยู่มากส่งผลให้ทำผลตอบแทนได้เพียงเฉลี่ย 3.50% และ 1.76% ตามลำดับ อีกทั้งความแตกต่างระหว่างกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดกับต่ำที่สุดนั้นก็ต่างกันมากเช่นเดียวกันโดยที่สูงสุดของกลุ่ม Equity Large Cap ทำได้ที่ 17.81% ขณะที่ต่ำสุดทำได้ -2.67% และกลุ่ม Equity Small/Mid Cap สูงสุดของกลุ่มทำได้ 14.67% และต่ำสุดทำได้ -7.41%

ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้น โดยเฉพาะที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่ม Money Market กลุ่ม Short Term Bond และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond ล้วนทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้น้อยลงมาอยู่ที่เฉลี่ย0.55%, 0.84% และ 1.22% ตามลำดับ ขณะที่ Emerging Market Bond (4.35%) และ กลุ่ม Global Bond (1.59%) นั้นยังพอทำผลงานได้ดีพอสมควรแต่ทั้งนี้ก็ควรต้องระมัดระวังถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน  

และในส่วนของกองทุนกลุ่มที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ (Property Indirect และ  Property Indirect - Global) นั้นยังมีความผันผวนอยู่มากทำให้ผลตอบแทนชลอลงมาเฉลี่ยได้อยู่ที่ -1.64% และ 4.23% ตามลำดับ

CatRet

ท้ายนี้มาดูกันที่การลงทุนใน LTF และ RMF ซึ่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมานี้ดูเหมือนว่านักลงทุนจะเน้นการขายหน่วยลงทุนออกเพื่อทำกำไรโดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผลตอบแทนที่น่าพอใจจากการลงทุนตลอดเวลาที่ผ่าน (5ปีย้อนหลังเฉลี่ย 6.9% ต่อปี, 7ปีได้อยู่ที่เฉลี่ย 10.51% ต่อปีและ 10ปีได้อยู่ที่เฉลี่ย 8.55% ต่อปี) มาประกอบกับสถานการณ์การลงทุนที่ตลาดยังดูมีความผันผวนอยู่มาก ส่งผลให้ปิดครึ่งแรกของปี LTF มีเงินไหลออกสูงมากเป็นอันดับ 2 ตลอดกาลที่ประมาณ 15,200 ล้านบาท ในขณะที่ RMF หลังจากที่มีการขายสุทธิออกค่อนข้างมากผิดปกติในไตรมาสแรกก็เริ่มมีนักลงทุนซื้อกลับเข้ามาบ้างเล็กน้อยในไตรมาสที่สองส่งผลให้ปิดครึ่งปีแรกมีเม็ดเงินไหลเข้ากลับมาเป็นบวกได้ที่ 13 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าเป็นยอดที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี  

แต่อย่างไรก็โดยภาพรวมของทั้ง LTF และ RMF นั้นยังมีแนวโน้มในการเติบโตได้ดีเพราะเชื่อว่าแรงขายจากนักลงทุนที่ตั้งใจอยากจะขายกองทุนทั้ง 2 ประเภทนี้นั้นน่าจะลดลงจนเกือบจะหมดแล้ว ซึ่งก็คาดการณ์ได้ว่าหลังจากนี้ครึ่งหลังของปีน่าจะมีแต่กำลังซื้อถยอยกลับเข้ามาโดยเฉพาะช่วงเดือนสุดท้ายของปี จบครึ่งปีแรก 2560 นี้ LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 330,809 ล้านบาท และ RMF มีอยู่ 219,302 ล้านบาท

LTFRMFFlow

*ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560

**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com

***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา

ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ 02-126-8137

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst