จากสถิติล่าสุดของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2560 บอกว่าบประเทศไทยมีกองทุนรวมทั้งสิ้น 1,520 กองทุน ขอย้ำนะครับว่า 1,520 กองทุน จำนวนกองทุนที่มากขนาดนี้นำมาซึ่งคำถามสุดคลาสสิคตลอดกาลของนักลงทุนนั้นก็คือ ลงทุนกองทุนไหนดี เลือกลงทุนอย่างไร และต่อให้มี guru และ blogger ด้านการลงทุนช่วยกันเขียนและอธิบายกันมากเท่าไร ผมก็ยังเชื่อว่าคำถามเหล่านี้ก็ยังไม่ลดหายไปจากอุตสาหกรรม
ตลอดระยะเวลาช่วง 10 ปีที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเรานั้นโตมาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องนี้ จากมูลค่าทรัพย์สินสุทธิประมาณ 2 ล้านล้านบาท เมื่อ 10 ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นมาเป็น 4.8 ล้านล้านบาท ณ ตอนนี้ สิ่งหนึ่งที่ยังคงไม่เคยเปลี่ยนไปเลยนั้นก็คือ ความต้องการของนักลงทุนที่จะลงทุนในกองทุนที่เค้าสามารถเข้าใจได้อย่างง่ายๆ (simplicity) ซึ่งแตกต่างกับ บลจ. ที่เป็น ผู้ผลิตกองทุนที่ต่างพากันออกกองทุนที่เพิ่มความสลับซับซ้อน (complexity) ออกมาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนอย่างมากมายในระยะหลัง
เราเคยมีกองทุนแบบง่ายๆอย่างเช่น กองทุนหุ้นไทย กองทุนตราสารหนี้ไทย และกองทุนผสม ในระยะแรกของอุตสาหกรรมกองทุนไทย แต่ด้วยพัฒนาการการเติบโตของอุตสาหกรรม ทำให้ทุกวันนี้เรามีกองทุนมากมายหลายสิบประเภทไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมวดอตุสาหกรรม, กองทุนหุ้นต่างประเทศ, กองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ, กองทุน Income Fund, กองทุน Multi Asset, กองทุนทองคำ, กองทุนน้ำมัน, กองทุน High Yield, กองทุน Quant Model เป็นต้น ซึ่งการมีกองทุนหลากหลายประเภทแบบนี้นั้นก็ถือว่ามีข้อดีอยู่ไม่น้อยเพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้เข้าถึงโอกาสทางการลงทุนใหม่ๆอยู่เสมอ แต่ก็ไม่ได้เป็นการการันตีถึงผลตอบแทนและแถมอีกสิ่งหนึ่งที่นักลงทุนต้องไม่ลืมนั้นก็คือ
ยิ่งกองทุนมีความสลับซับซ้อนในการบริหารมากเท่าไร่ ค่าธรรมเนียมต่างของกองทุนก็มักจะสูงตามไปด้วยนั้นเอง ซึ่งหมายความว่า เรามีต้นทุนทางการลงทุนที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับนักลงทุนไทยเท่านั้น นักลงทุนทั่วโลกต่างก็เผชิญปัญหาคล้ายๆกันซึ่งนักลงทุนแต่ละที่ก็ดูเหมือนจะมีวิธีแก้ปัญหา เช่นที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงจะเป็นนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาที่ช่วงที่ผ่านมานักลงทุนต่างนิยมนำเงินไปลงทุนใน Index Fund และ ETFs ซึ่งส่วนหนึ่งของเหตุผลนั้นมาจากความง่าย (simplicity) ของกองทุนประเภทดังกล่าวที่ผู้ลงทุนสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้ตามดัชนีที่กองทุนนั้นกำลัง Track อยู่นั้นเอง อีกทั้งกองทุนดังกล่าวยังมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่ากองทุนประเภท Active Fund แบบทั่วๆไปอีกด้วย
แต่ถึงกระนั้นบรรดา บลจ. ผู้ออกกองทุนก็ยังสามารถคิดค้นหาวิธีเพิ่มความสลับซับซ้อน (complexity) เข้าไปยังกองทุนจำพวก Index Fund และ ETFs ได้อีก ซึ่งนั้นก็เป็นที่มาของกองทุนประเภท Smart Beta หรือ Strategic Beta นั้นเอง ซึ่งมีการบริหารอยู่ตรงกลางระหว่าง Passive และ Active และนี่ก็ถือเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนไปพร้อมๆกับค่าธรรมเนียมที่สูงกว่า Index Fund หรือ ETFs แบบปกติ ซึ่งนั้นก็อาจจะตอบโจทย์สำหรับผู้ลงทุนบางกลุ่มไปด้วยเช่นกัน
ผ่านมา 10 ปีสำหรับช่วงเวลาที่เรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาทองเป็นยุครุ่งเรื่องของอุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเรา แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนกับผู้ผลิตกองทุนนั้นยังวนเวียนอยู่กับโจทย์เดิมๆที่ยังแก้ไม่ตก ซึ่งความท้าทายต่อไปจากนี้ของอุตสาหกรรมกองทุนในบ้านเราคงไม่ใช่เรื่องของผลลิตภัณฑ์ทางการลงทุนเพราะดูเหมือนว่า บลจ. ผู้ผลิตนั้นจะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญต่อจากนี้คือการการแก้ปัญหาที่ตัวเองได้สร้างไว้ซึ่งนั้นก็คือ บลจ. ต่างๆจะมีวิธีช่วยเหลือนักลงทุนอย่างไรให้เข้าใจถึงผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่มีมากมายอยู่ล้นตลาด จะต้องมีเครื่องมืออะไรหรือไม่ที่จะมาช่วยให้ผู้ลงทุนแยกแยะความแตกต่างกองทุนประเภทต่างๆรวมถึงช่วยเลือกกองทุนให้เหมาะกับความต้องการของผู้ลงทุนได้