เปิดต้นปีนี้ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมในบ้านเราดูจะค่อนข้างเงียบๆ ส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนมีความกังวลอย่างต่อเนื่องมาจากปลายปีที่แล้วต่อเรื่องของตราสารหนี้ประเภท High Yield ที่ดูเหมือนว่าจะยังไม่จบสิ้นดี อีกทั้งสภาพของตลาดหุ้นไทยที่ยังคงมีความผันผวนประกอบกับปัจจัยภายนอกทั้งเรื่อง Fed ขึ้นดอกเบี้ย การเลือกตั้งของหลายประเทศใหญ่ในยุโรป และล่าสุดความกังวลต่อสถานการณ์ของสหรัฐและเกาหลีเหนือ
เรื่องเหล่านี้ล้วนกดดันให้นักลงทุนชลอการลงทุนและรวมทั้งย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความผันผวนต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยปิดไตรมาส 1 นี้มีเงินไหลเข้ากองทุนรวมสุทธิเพียง 42,577 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2559 กว่า 72.53% แต่อย่างไรก็ตามภาพรวมของอุตสาหกรรมก็ยังโตอยู่ที่ 2.06% นับจากสิ้นปี 2559
ซึ่งในส่วนของประเภทกองทุนที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนนั้นมีความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยที่กองทุนประเภท Foreign Investment Bond Fix Term และ Short Term Bond นั้น ยังคงได้รับความนิยมสูงสุดอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้วอันเป็นผลมาจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของตราสารหนี้ประเภท High Yield ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่อการลงทุนในตราสารดังกล่าวจึงเป็นผลให้ผู้ลงทุนตัดสินใจไม่ลงทุนต่อในกลุ่มดังกล่าวแล้วหันมาลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีระยะเวลาสั้นลงแทน ทำให้ในขณะนี้กลุ่ม High Yield Bond ทั้งในและต่างประเทศนั้นมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิลดลงอย่างน่าใจหายเหลือรวมกันแค่ประมาณ 125,840 ล้านบาท จากที่เคยสูงสุดถึงกว่า 520,000 ล้านบาทเมื่อกลางปี 2558 ที่ผ่านมา
และมากไปกว่านั้นเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบไปถึงหลาย บลจ. ที่เน้นการออกกองทุนในกลุ่มกองทุนประเภทดังกล่าวเป็นพิเศษนั้นได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากโดยที่บาง บลจ. ยอดเงินภายใต้การบริหารลดลงไปกว่า 80%
โดยหากมองไปยัง 5 อันดับกลุ่มกองทุนที่มีเงินไหลเข้าสูงสุดในไตรมาส 1 นี้จะสังเกตได้ว่าทั้งหมดเป็นกลุ่มกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปานกลางทั้งสิ้นซึ่งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าผู้ลงทุนนั้นยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์การลงทุนอยู่มาก
ส่วนการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 1 นี้มีกองทุนเปิดใหม่อีก 19 กองทุน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิโตขึ้นจากปลายปีที่แล้ว 15.16% และมีเงินไหลเข้าสุทธิทั้งกลุ่มในไตรมาส 1 นี้กว่า 45,891 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งสิ้น 456,434 ล้านบาท
ซึ่งเม็ดเงินที่ไหลเข้าสุทธิของกองทุนในกลุ่ม กองทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) นี้ยังคงไหลไปยัง 2กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่ม Global Bond และ กลุ่ม Global Allocation ที่ 29,384 และ 25,510 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่นักลงทุนบางส่วนก็ถือโอกาสปรับพอร์ตการลงทุนขายทำกำไรและลดความเสี่ยงลงจากกลุ่มหุ้นต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น Global Health Care, Europe Equity, China Equity, Japan Equity และ Asia Pacific ex-Japan Equity
ส่งผลให้ภาพรวมของสินทรัพย์ในกลุ่มดังกล่าวนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยสินทรัพย์ประเภทตราสารหนี้นั้นมี market share เพิ่มขึ้นจาก 14.33% เป็น 18.89% และกลุ่มสินทรัพย์แบบผสมเพิ่มขึ้นจาก 28.26% เป็น 30.64% ในขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตราสารทุนนั้นลดลงจาก 48.07% เหลือ 42% เท่านั้น และกลุ่มกองทุนที่มีส่วนแบ่ง market share มากที่สุด 3 อันดับนั้นก็คือ กลุ่ม Global Allocation (30.64%) กลุ่ม Global Bond (18.21%) และกลุ่ม Global Health Care (11.16%)
และการลงทุนในกลุ่มกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่นับรวมประเภท Term Fund) หรือ กองทุน FIF เราคุ้นเคยกันนั้นส่วนใหญ่กว่า 82% (มูลค่าทรัพย์สินสุทธิทั้งสิ้น 373,614 ล้านบาท) จะเป็นการลงทุนแบบ Master-Feeder นั้นก็คือมีการทุนผ่านกองทุน Master Fund เพียงกองเดียว โดยในปัจจุบันนี้ กองทุนไทยได้มีการติดต่อลงทุนผ่าน บลจ. ชั้นนำของโลกกว่า 40 บริษัท โดยที่ บลจ. ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้นได้แก่ PIMCO, JP Morgan, Deutsche, State Street และ BlackRock เป็นต้น
ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) นั้นถือว่ากลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เงียบๆไปกว่า 2ปี โดยที่ในไตรมาส 1 ปีนี้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 10,691 ล้านบาท (สูงที่สุดในรอบ 2ปีที่ผ่านมา) โดยที่แบ่งเป็นเข้ากองทุนหุ้นไทยขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) 5,756 ล้านบาทและกองทุนหุ้นไทยขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid Cap) 4,935 ล้านบาท ทั้งนี้เชื่อว่าเป็นผลมาจากการผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยที่ทำได้ดีในปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นผลให้ผู้ลงทุนหันกลับมาสนใจในหุ้นไทยกันอีกครั้ง ซึ่งหากผู้ลงทุนที่มาลงทุนด้วยเพราะเหตุผลดังกล่าวนี้ก็อาจจะตรงกับพฤติกรรมการลงทุนที่เรียกว่า Chasing Return หรือ การวิ่งไล่ตามผลตอบแทน นั้นเอง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วการลงทุนโดยวิธีแบบนี้มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ
ผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ
ในส่วนของผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปีนี้นั้น เกือบทุกกลุ่มกองทุนสามารถทำผลตอบแทนเป็นบวกได้ทั้งหมดเว้นเพียงแต่กลุ่มกองทุนน้ำมัน (Commodities Energy, -10.83%) เท่านั้นที่มีผลตอบแทนติดลบ
โดยที่กลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ดีในไตรมาสนี้นั้นล้วนแต่เป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศทั้งสิ้นนำมาโดยกองทุนกลุ่ม Asia Pacific ex-Japan Equity, กลุ่ม China Equity และ กลุ่ม Global Health Care ที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยในไตรมาส 1 นี้ได้สูงถึง 10.00%, 7.71% และ 7.49% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มหุ้นไทยทั้งกลุ่ม Equity Large Cap และ Equity Small/Mid Cap ยังคงมีความผันผวนอยู่มากส่งผลให้ทำผลตอบแทนได้เพียงเฉลี่ย 1.92% และ 1.36% ตามลำดับ อีกทั้งความแตกต่างระหว่างกองทุนที่ทำผลตอบแทนได้สูงที่สุดกับต่ำที่สุดนั้นก็ต่างกันมากเช่นเดียวกันโดยที่สูงสุดของกลุ่ม Equity Large Cap ทำได้ที่ 9.70% ขณะที่ต่ำสุดทำได้ -4.20% และกลุ่ม Equity Small/Mid Cap สูงสุดของกลุ่มทำได้ 8.08% และต่ำสุดทำได้ -7.83%
ในส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นทั้งตราสารหนี้ที่ลงทุนในประเทศอย่าง กลุ่มMoney Market กลุ่ม Short Term Bond และ กลุ่ม Mid/Long Term Bond และตราสารหนี้ต่างประเทศอย่าง Emerging Market Bond และ กลุ่ม Global Bond นั้นล้วนแต่ทำผลตอบแทนได้อยู่ในระดับกลางเป็นไปตามระดับความเสี่ยงทั้งสิ้นโดยที่มีค่าเฉลี่ยผลตอบแทนอยู่ระหว่าง 0.27% ไปจนถึง 2.88%
ขณะที่กองทุนที่ปีที่แล้วร้อนแรงและให้ผลตอบแทนดีอย่างกลุ่มที่เน้นลงทุนในกองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ (Property Indirect และ Property Indirect - Global) นั้นปีนี้ก็เริ่มชลอลงบางแล้วโดยสามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้อยู่ที่ 0.26% และ 0.38% ตามลำดับ
ท้ายนี้มาดูกันที่การลงทุนใน LTF และ RMF ซึ่งในไตรมาส 1ที่ผ่านมานี้นั้นยังคงเป็นไปในลักษณะเดิมดังเช่นไตรมาส 1ของทุกๆปี ซึ่งนั้นก็คือ ผู้ลงทุนยังคงขายกองทุน LTF และ RMF เมื่อครบกำหนดกันตามปกติ แต่ในปีนี้มีเม็ดเงินไหลออกหรือเรียกได้ว่ามีผู้ลงทุนขายมากกว่าค่าเฉลี่ยๆของโดยเฉพาะ LTF ที่มีเงินไหลออกสุทธิกว่า -12,480 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งคงเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนต้องการลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนประกอบกับผลกำไรที่ได้รับมาตลอดการลงทุนใน LTF ในช่วงที่ผ่านมานั้นค่อนข้างดีอยู่พอสมควรจึงเป็นเหตุผลให้มีการขายหน่วยลงทุนมากเป็นพิเศษ ขณะที่ RMF นั้นถึงจะมีเงินไหออกสุทธิเพียงเล็กน้อยที่ -433 ล้านบาท แต่ก็ต้องถือว่าสูงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน
แต่อย่างไรก็โดยภาพรวมของทั้ง LTF และ RMF นั้นยังคงเติบโตได้ดีโดยเฉพาะส่วนของ LTF ที่หลายฝ่ายกังวลถึงแรงเทขายช่วงต้นปี ซึ่งตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงว่านักลงทุนส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มองการลงทุนใน LTF หรือ RMF เป็นเพียงเรื่องของการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีเพียงอย่างเดียว แต่มองเห็นถึงประโยชน์ของการลงทุนในระยะยาวอย่างแท้จริง มิเช่นนั้นทุกคนคงขาย LTF หรือ RMF กันไปหมดแล้วเมื่อลงทุนมาครบตามกำหนดกฎเกณฑ์ ปิดไตรมาสที่ 1 นี้ LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 330,412 ล้านบาท และ RMF มีอยู่ 215,173 ล้านบาท
*ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560
**ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) www.morningstarthailand.com
***ข้อมูลการจัดอันดับกองทุนและเนื้อหาต่างๆในเอกสารฉบับนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และบริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการลอกเลียนแบบ แก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลใดๆ ที่ปรากฎอยู่นี้โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร อย่างไรก็ดี บริษัทขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับผิดชอบต่อความถูกต้อง ครบถ้วน และความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกกรณีจากการนำรายงานหรือข้อมูลไปใช้อ้างอิง ดังนั้น หากผู้ลงทุนจะดำเนินการอย่างหนึ่ง อย่างใด ผู้ลงทุนควรใช้วิจารณญาณและความรอบคอบในการพิจารณา