ปีนี้ถือเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันสำหรับ กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่สามารถคว้ารางวัล Morningstar Awards กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพยอดเยี่ยมประเภทตราสารทุนไปได้ กองทุนมีความโดดเด่นในการสร้างผลตอบแทนที่ดีพร้อมทั้งการควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับต่ำได้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 5ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 14.43% ต่อปี (สูงที่สุดในกลุ่ม)
ส่วนกองทุนจะมีจุดเด่นหรือมีมุมมองต่อการลงทุนในปี นี้อย่างไรนั้น เชิญติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้ครับ
คำถาม: ตลอดปี 2559 ที่ผ่านมานี้กองทุน Bualuang Equity RMF ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการลงทุนหรือไม่ อย่างไร? กรุณาช่วยยกตัวอย่างการลงทุน (หุ้นและหมวดอุตสาหกรรม) ที่โดดเด่นจนทำให้กองทุนประสบความสำเร็จในช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา และในปัจจุบันนี้ ท่านมีมุมมองต่อการลงทุนดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร?
คำตอบ: การลงทุนของเรายังคงยึดตาม Investment Theme หลักๆที่ผ่านมา เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว จึงไม่ได้เปลี่ยนหุ้นที่เป็น Core Portfolio กันบ่อย ซึ่งที่ผ่านมา ให้น้ำหนักการลงทุนในกลุ่มค้าปลีก เนื่องจาก เชื่อว่าเป็น Sector ที่เติบโตไปพร้อมๆกับภาพ Macro ของ ASEAN (การขยายตัวของชนชั้นกลาง กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น การเพิ่มขึ้นของ Urbanization) ซึ่งในปี 2559 ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มนี้ Outperform SET อย่างมาก (ปี 2559 SET +19.8%, Commerce +41%)
นอกจากนี้ กองทุนยังให้น้ำหนักลงทุนใน Energy sector (ปี 2559 Energy +38.4% ) เนื่องจากได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา
สำหรับมุมมองกลุ่มค้าปลีก บลจ.บัวหลวง เชื่อว่า ยังเติบโตไปได้ดี ด้วยปัจจัยตามที่กล่าวไปข้างต้นยังคงมีผลต่อเนื่อง ทั้งยังมีเรื่องของ E-commerce หรือ Online business ที่จะเข้ามาช่วยต่อยอดให้ภาคค้าปลีกใน ASEAN ให้ขยายตัวได้ สำหรับกลุ่ม Utilities และ Energy ปีนี้เราเน้นไปที่เรื่องของ Renewable Energy เนื่องจากเป็น Global Trend ในอนาคต แม้ในระยะสั้นจะมีประเด็นที่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการพัฒนาโรงไฟฟ้าบางประเภทไปบ้าง แต่จากความพยายามของทุกฝ่ายในการร่วมมือหาทางออก และความที่รัฐบาลยังสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพราะ เป็น 1 ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงคาดว่า ทุกอย่างน่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีในที่สุด
คำถาม: อะไรคือจุดเด่นและเทคนิคในการเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนจนทำให้กองทุน Bualuang Equity RMF อย่างต่อเนื่อง
คำตอบ: ทุกกองทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.บัวหลวง เรายึดหลักการเดียวกัน นั่นคือ ทีมจัดการลงทุนสามารถ มองหาแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ สังคมหรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มากำหนดเป็น Investment Theme ได้ชัดเจน และสามารถหาหุ้นลงทุนที่ได้รับประโยชน์จาก Theme นั้นๆ ได้ ตัวอย่าง Theme ที่ผ่านมา เช่น Urbanization Aging-Society เป็นต้น
สำหรับการเลือกหุ้นรายตัว ได้ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า หุ้นที่ลงทุนนั้นมีศักยภาพการเติบโตสอดคล้องไปกับแนวโน้มที่กล่าวไปข้างต้น ความสามารถในการทำกำไรที่สม่ำเสมอ มีความได้เปรียบในการแข่งขัน มีทีมผู้บริหารที่เก่งและมีบรรษัทภิบาลที่ดี ประกอบกับมีส่วนต่างของราคาหุ้นปัจจุบันกับมูลค่าที่แท้จริง (Margin of safety)ที่สูง (ทำให้เราสามารถทำกำไรจากส่วนต่างของราคา อันเนื่องมาจากความผันผวนของตลาด ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่มีประสิทธิภาพของตลาด)
เมื่อเราพบหุ้นที่มั่นใจที่จะลงทุนแล้ว เราจะให้น้ำหนักการลงทุนมากกว่าตลาด หรือ Overweight ในการลงทุน ส่งผลให้ได้ผลตอบแทนแบบเป็นน้ำเป็นเนื้อ นอกจากนี้ การที่เราถืออย่างอดทน ผ่านความผันผวนของตลาด ถือเป็นความได้เปรียบของการลงทุนระยะยาว
นอกจากนี้ การมีวินัยในการลงทุน เป็นสิ่งที่เรายึดถือมาตลอด หากหุ้นที่ลงทุนไม่เป็นไปตามทิศทางที่คาดไว้ ในแง่ของผลการดำเนินการทางธุรกิจ เราก็จะมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนทันที
Good stock + Good Trade = Good performance
นอกจากนี้ การที่มี Teamwork ที่ดี ช่วยให้ทีมจัดการลงทุนสามารถหา Ideas ใหม่ๆ และ Share Ideas ร่วมกัน ระหว่างผู้จัดการกองทุนและทีมนักวิเคราะห์
คำถาม: สิ่งแรกสำหรับผู้ลงทุนที่สนใจจะลงทุนในกองทุน Bualuang Equity RMF ควรจะทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจลงทุนคืออะไร
คำตอบ: อันดับแรกนักลงทุนต้องเข้าใจรสนิยมการลงทุนของตนเองก่อนว่ารับความเสี่ยงในหุ้นได้หรือไม่ ต้องการลงทุนเพื่อประหยัดภาษีหรือไม่ และสามารถลงทุนต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานได้หรือไม่ เพราะกองทุน RMF ต้องลงทุนต่อเนื่องจนอายุ 55 ปี (สามารถลงทุนปีเว้นปีได้ และเปลี่ยนประเภท Asset class ระหว่างกอง RMF ได้)
จากนั้น ศึกษา Style การลงทุนของ บลจ.บัวหลวง และ Theme การลงทุน ว่าเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าชอบ Style การลงทุนแบบเราหรือไม่ เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง หากนักลงทุนไม่เข้าใจรูปแบบการลงทุนก็อาจจะทนรับผลขาดทุนในช่วงสั้นๆไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเน้นย้ำต่อผู้ถือหน่วยเสมอมา
คำถาม: เนื่องจากกองทุน Bualuang Equity RMF เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนระยะยาวเพื่อการเกษียณ กองทุนมีเทคนิคการบริหารและเลือกลงทุนที่แตกต่างออกไปจากกองทุนหุ้นกองอื่นๆของ บลจ. บัวหลวงหรือไม่อย่างไร อีกทั้งกองทุนมีเทคนิคอย่างไรที่จะทำให้ผู้ลงทุนในกองทุนดังกล่าวที่มีรอบเวลาการขายไม่เหมือนกันแต่ยังได้ผลตอบแทนที่เป็นที่น่าพอใจใกล้เคียงกันอยู่เสมอ
คำตอบ: เทคนิคการบริหารไม่แตกต่างกันสำหรับทุกกองทุนภายใต้ บลจ.บัวหลวง เรายังคงเป็น Value Investor ที่เน้น Long Term Investing สำหรับ Timing ในการซื้อขายของผู้ลงทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการลงทุนซึ่งอาจขึ้นอยู่กับระยะเวลา ความต้องการใช้เงิน หรือเงื่อนไขของกอง RMF
แต่โดยทั่วไปแล้ว อยากให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในระยาว เพื่อให้ได้ผลตอบแทนแบบทบต้นไปเรื่อยๆ ซึ่งดีกว่าการที่นักลงทุนซื้อๆขายๆ เพราะนอกจากเสียค่าธรรมเนียมการซื้อขาย ยังอาจซื้อขายไม่ถูกจังหวะ หรือ ทำให้เกิดผลขาดทุน ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถ ทำ DCA หรือ Dollar Cost Average เพื่อเป็นการสร้างวินัยการลงทุนที่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
คำถาม: หากพูดถึงการลงทุนเพื่อการเกษียณ ท่านมองว่ากองทุน Bualuang Equity RMF นั้นเหมาะกับผู้ลงทุนแบบไหน และกองทุน Bualuang Equity RMF ควรมีบทบาทอย่างไรในพอร์ตโฟลิโอของผู้ลงทุน
คำตอบ: Bualuang Equity RMF เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว ที่ต้องการสะสมมูลค่าเงินลงทุนแบบทบต้นทบดอกอย่างต่อเนื่อง เป็นการกำหนดวินัยการออม เพื่อสำหรับให้มีเงินใช้ในช่วงหลังเกษียณ และยังได้ประโยชน์การการลดหย่อนภาษี โดยจากข้อมูลในอดีต การลงทุนในหุ้น จะให้ส่วนต่างผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อื่น และสามารถชนะเงินเฟ้อได้ แต่เนื่องจากเป็นกอง Equity เพราะฉะนั้นผู้ลงทุนต้องทนรับความเสี่ยงจากความผันผวนของหุ้นในระหว่างทางที่ถือหน่วยไว้ได้ด้วย
สำหรับบทบาทของ BERMF ในพอร์ตโฟลิโอของผู้ลงทุน นักลงทุนควรจะวางแผนแบ่งเงินลงทุนออกเป็นส่วนต่างๆ โดยแยกเป็นส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ส่วนเพื่อการออมและการลงทุน สำหรับกอง BERMF เป็นการลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก เงินที่จะแบ่งมาสำหรับลงทุนในส่วนนี้จะต้องเป็นเงินที่ลูกค้าไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ในระยะสั้น และควรเป็นส่วนที่นอกเหนือจากเงินออมที่กันไว้เผื่อค่าใช้จ่ายฉุกเฉินด้วย ดังนั้น บทบาทของ BERMF สำหรับลูกค้าแต่ละคนจะต่างกันไปตามภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่เหมือนกัน