นักลงทุนส่วนใหญ่คงได้ทำการศึกษาบริษัทนั้นๆมาอย่างดีก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นเข้าพอร์ตโฟลิโอ ทั้งในแง่ธุรกิจ โอกาสในการเติบโต ผู้บริหาร งบการเงิน ความเสี่ยง รวมไปถึงผลตอบแทนที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับทั้งในส่วนของเงินปันผลและราคาที่เพิ่มขึ้น และหลังจากซื้อหุ้นนั้นๆเข้าพอร์ตแล้วนักลงทุนควรจะกลับมาดูว่า เหตุผลที่ใช้ในการตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นยังคงใช้ได้อยู่หรือไม่เมื่อเวลาผ่านไป เพราะการเก็บหุ้นไว้ในพอร์ตโดยที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นเปลี่ยนไปจากที่คาดไว้อาจส่งผลต่อผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตได้ ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงควรจะตรวจสอบพอร์ตการลงทุนอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเพื่อดูว่าผลการดำเนินงานของบริษัทที่เราลงทุนอยู่เป็นอย่างไร บริษัทมีปัญหาอะไรในช่วงปีที่ผ่านมาหรือไม่ และการตรวจสอบหุ้นในพอร์ตยังสามารถช่วยให้นักลงทุนรู้ว่า นักลงทุนต้องการจะถือหุ้นตัวนั้นต่อไปหรือไม่ หรือควรซื้อเพิ่มที่ราคาปัจจุบัน หรือควรขายเพื่อทำกำไร หรือแม้แต่รับรู้การขาดทุน
สำหรับการตรวจสอบพอร์ตโฟลิโอนั้น รายละเอียดที่นักลงทุนจะเข้าไปตรวจสอบอาจแตกต่างกันได้ตามลักษณะขอบริษัท เช่น สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่จำพวกบลูชิพ ปัจจัยพิ้นฐานของบริษัทมักจะมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงง่ายนัก นักลงทุนอาจเน้นไปที่ปัญหาใหญ่ๆที่สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อบริษัทได้ ส่วนธุรกิจทั่วไปที่ยังไม่มั่นคง อาจถูกกระทบจากสถานการณ์ตลาด ปัจจัยภายนอก รวมไปถึงการเก็งกำไรจากข่าวสารระยะสั้นได้ง่ายกว่า นักลงทุนอาจต้องสนใจรายละเอียดในการตรวจสอบมากกว่าแบบแรก
ส่วนเป้าหมายในการตรวจสอบพอร์ตโฟลิโอนั้นก็เพื่อให้นักลงทุนได้รู้ว่า ควรจะตัดสินใจต่อหุ้นนั้นๆอย่างไร ซื้อเพิ่ม ถือไว้ หรือขายหุ้นที่มีอยู่เพื่อนำเงินไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นแทน ซึ่งหากนักลงทุนตัดสินใจผิดพลาด ขายหุ้นที่ดีออกจากพอร์ตและซื้อหุ้นที่แย่กว่าเข้าพอร์ต นอกจากจะทำให้ผลตอบแทนที่จะได้รับในอนาคตลดลงแล้ว นักลงทุนยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อขายอีกด้วย ทางมอร์นิ่งสตาร์มี 4 ข้อผิดพลาดที่พบบ่อยในพอร์ตการลงทุนและวิธีหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดเหล่านี้มาฝากนักลงทุนกัน
ขายหุ้นเพราะราคาตลาดเพิ่มขึ้น การขายหุ้นแบบนี้ถึงแม้จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาในวันนี้แต่มันอาจเทียบไม่ได้เลยกับกำไรที่นักลงทุนอาจจะได้รับในอนาคต ก่อนตัดสินใจขายหุ้น นักลงทุนไม่ควรดูแค่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่ควรมองกลับไปที่ปัจจัยพิ้นฐานของบริษัทและถามตัวเองก่อนว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทมั่นคงเพียงใด โอกาสในการเติบโตของกำไรเป็นอย่างไร และบริษัทมีโอกาสที่จะไปถึงเป้าหมายที่นักลงทุนตั้งไว้มากน้อยเพียงใด
ขายหุ้นเพราะราคาตลาดลดลง หากนักลงทุนเพิ่งเริ่มถือหุ้นได้เพียงระยะสั้นภายใน 1 ปีแล้วราคาหุ้นลดลงอย่างมาก นักลงทุนควรจะตรวจสอบปัจจัยที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจซื้อหุ้นเข้าพอร์ตว่ายังคงใช้ได้หรือไม่ เพราะราคาตลาดนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดในช่วงเวลาหนึ่งๆ และการซื้อหุ้นที่ราคาสูงแต่ขายในราคาที่ต่ำกว่าไม่สามารถทำให้นักลงทุนมีกำไรได้ หากบริษัทมีพื้นฐานดีและมีผลการดำเนินงานเติบโตตามการวิเคราะห์ ราคาตลาดอาจปรับขึ้นภายหลังในระยะยาว อย่างไรก็ตาม สำหรับหุ้นจำพวกนี้นักลงทุนอาจตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเพราะบริษัทมีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาเกิดขึ้นมากระทบปัจจัยพื้นฐานได้
ไม่ขายหุ้นเพราะราคาตลาดลดลง ราคาตลาดที่ลดลงอาจมาจาก 2 สาเหตุหลักๆคือ ราคาตลาดไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท หรือการวิเคราะห์ผิดพลาดของนักลงทุนตอนตัดสินใจซื้อหุ้น หากสาเหตุมาจากอย่างหลัง แต่นักลงทุนยังเชื่อว่าตนเองนั้นถูกเสมอหรือคาดหวังว่าราคาตลาดต้องสูงขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต ก็จะทำให้ยิ่งขาดทุนเพิ่มขึ้นจากการถือหุ้นนั้นต่อไปเรื่อยๆ ในทางกลับกันหากทำการวิเคราะห์แล้วพบว่าราคาตลาดไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง นักลงทุนควรจะคิดต่อไปว่าอีกนานเท่าไรตลาดจึงจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริง หรือมีเหตุการณ์อะไรที่จะสามารถทำให้ตลาดรับรู้มูลค่าที่แท้จริงได้ และตัวนักลงทุนเองนั้นสามารถทนรอจนกว่าจะถึงเวลานั้นได้หรือไม่
ไม่ขายหุ้นเพราะราคาตลาดเพิ่มขึ้น เป็นไปได้อีกเช่นกันที่นักลงทุนไม่คิดจะขายหุ้นด้วยเหตุผลที่ว่าหุ้นนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีในอดีต ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงราคาในอดีตจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการซื้อหุ้น แต่ต้องไม่ลืมว่าราคาในอดีตนั้นไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคตได้
นักลงทุนสามารถหลีกเลี่ยงข้อผิดพลาดในการลงทุนเหล่านี้ได้ด้วยการตรวจสอบพอร์ตโฟลิโอของตนเอง และให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่เป็นตัวกำหนดผลตอบแทนที่แท้จริงทั้งในด้านราคาตลาดและการจ่ายปันผลเพื่อให้ได้หุ้นที่เหมาะสมสำหรับการถือครองในระยะยาว
บทความโดย ชิสา รัศมีสังข์ (shisa.ratsameesang@morningstar.com)
จากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Post Today วันที่ 5 ส.ค. 2557)