สังเกตจากการจดทะเบียนออกหุ้น IPO กันอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ถึงแม้หุ้น IPO จะถูกมองว่าเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงอยู่ในตัว แต่สำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายการลงทุนให้กับพอร์ตโฟลิโอของตัวเองนั้น ทางมอร์นิ่งสตาร์มองว่าหุ้น IPO ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป
ในมุมมองของนักวิเคราะห์ของมอร์นิ่งสตาร์ นักลงทุนน่าจะมีหุ้น IPO ซึ่งถือเป็นหุ้นขนาดเล็ก (small-cap) อยู่ในพอร์ตโฟลิโอในสัดส่วนที่ไม่เกิน 20% แต่ในขณะเดียวกัน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากธุรกิจของบริษัทฯ ที่ออกหุ้น IPO ก็เป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม โดยทั่วไปแล้วหุ้นขนาดเล็กเหล่านี้มักจะมีความผันผวนในด้านราคา มีปริมาณการซื้อขายไม่สูงนัก สภาพคล่องต่ำ และไม่มีการออกบทวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ทั่วๆ ไป ปัจจัยที่ว่ามานี้ยิ่งสนับสนุนให้หุ้นขนาดเล็กที่เพิ่งเข้าตลาดมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อนักลงทุน อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนติดตามดูผลประกอบการ ศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับแนวทางการลงทุนของตัวเองแล้วนั้น หุ้น IPO เหล่านี้อาจให้ผลตอบแทนในอัตราที่มากกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหรืออุตสาหกรรมได้เช่นกัน
หลายๆประเด็นที่นักลงทุนอาจใช้เป็นกรอบในการศึกษาก่อนที่จะเลือกลงทุนในหุ้น IPO
- มองหาบริษัทฯ ที่ทำธุรกิจมาได้ระยะหนึ่งและอยู่ตัวในระดับหนึ่งแล้วตัดสินใจเข้าตลาดเพื่อขยายกิจการมากกว่าจะมองหาบริษัทฯ ที่เพิ่งก่อตั้งธุรกิจมาไม่นาน
- มองหาบริษัทฯ ที่มีการทำธุรกิจมานานและสามารถศึกษาผลประกอบการย้อนหลังได้ ยิ่งถ้าบริษัทฯ มีผู้บริหารที่ทำงานกับบริษัทฯ มานานเป็นคนที่ตัดสินใจนำบริษัทฯ เข้าจดทะเบียนในตลาด และจะยังคงเป็นผู้บริหารต่อไปหลังจากที่บริษัทจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แล้ว จะถือว่าเป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนในตัดสินใจการลงทุน
- ศึกษาข้อมูลจนเข้าใจให้ได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทฯ นั้นจดทะเบียนเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ และจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้นไปทำอะไร
- แหล่งที่มาของการออกหุ้น IPO ว่ามาจากแหล่งใด มาจากตัวบริษัทที่ก่อตั้งและทำธุรกิจเองโดยตรง หรือมาจากบริษัทประเภท Private Equity Fund ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยใส่ทรัพยากรทั้งเงินทุนและบุคลากรเข้าไปพัฒนาจนมีมูลค่าเพิ่งสูงขึ้น เพื่อขายทำกำไรในอนาคตผ่านการขายหุ้น IPO และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ปกติแล้ว Private Equity Fund มักจะคาดหวังกำไรสูงสุดในการขายหุ้นผ่าน IPO ดังนั้น หากบริษัทที่จะออกหุ้น IPO เป็นบริษัทที่มาจากกองทุน Private Equity โอกาสที่นักลงทุนในหุ้น IPO เพื่อเป็นเจ้าของธุรกิจในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมากๆเพื่อให้เกิดส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) ในสัดส่วนที่สูงก็อาจทำได้ไม่ง่ายนัก
- ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยเชิงพื้นฐานต่างๆ เช่น งบดุลที่แสดงให้เห็นถึงสถานภาพที่เหมาะสมของบริษัท ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
- ราคาหุ้น IPO ที่จะทำการซื้อขายในตลาดนั้นเป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างน้อยนักลงทุนควรจะแน่ใจว่า ราคาหุ้นนั้นไม่สูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงของบริษัท และโดยปกติแล้ว ราคาหุ้น IPO ไม่ควรจะสูงกว่าราคาหุ้นตัวอื่นในตลาดที่อยู่ในระดับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน
สำหรับบริษัทในประเทศไทยนั้นมีแนวโน้มที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้นทุกปี เห็นได้จากปีที่ผ่านมาและในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2557 นี้ มีบริษัทที่ออกหุ้น IPO ไปแล้วทั้งหมด 38 บริษัท ซึ่งจำนวนดังกล่าวมิได้รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขายในตลาด (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2557)
สุดท้ายนี้ ในช่วงที่ตลาดหุ้นกำลังร้อนแรงดึงดูดใจนักลงทุนเช่นนี้ ความไม่แน่นอนของตลาดก็จะสูงตามมาด้วยเช่นกัน นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนไม่ว่าจะเป็นในหุ้น IPO หรือหุ้นทั่วไปที่ถูกจับตามองอยู่ในตลาดขณะนี้ก็ตาม
บทความโดย
ชิสา รัศมีสังข์ (shisa.ratsameesang@morningstar.com)
วุฒิชัย คงพัฒนสิริ (Wuttichai.kongpattanasiri@morningstar.com)
บทความจากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Post Today วันที่ 10 มิ.ย. 2557)