นักลงทุนส่วนใหญ่คงได้มีโอกาสอ่านบทวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์กันมาบ้างแล้ว จะเห็นว่านอกจากความรู้พื้นฐานทางบัญชีและงบการเงินที่จะนำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์บริษัทที่เราจะลงทุนแล้ว นักลงทุนยังจำเป็นต้องสังเกตและศึกษาปัจจัยภายนอกอื่นๆที่ส่งผลต่อธุริกจของบริษัทนั้นๆด้วย เพื่อให้เข้าใจธุรกิจของบริษัทให้มากขึ้น วันนี้เรามาเริ่มวิเคราะห์อย่างนักวิเคราะห์กัน
4 คำถามเบื้องต้นอย่างนักวิเคราะห์
- เป้าหมายของธุรกิจคืออะไร?
- ธุรกิจสร้างรายได้อย่างไร?
- การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยดีหรือไม่?
- บริษัทอยู่ในตำแหน่งของธุรกิจไว้อย่างไร เมื่อเทียบกับคู่แข่ง?
นักวิเคราะห์จะใช้คำถามข้างต้นนี้ ในการเริ่มต้นวิเคราะห์ธุรกิจต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น เรามาลองวิเคราะห์ธุรกิจร้านอาหารไปพร้อมๆ กัน
ก่อนจะทำอะไรก็ตาม เราควรจะมีเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนลงมือทำทุกครั้ง ซึ่งการดำเนินธุรกิจก็เช่นกันเดียวกัน นักลงทุนจำเป็นต้องทราบถึงเป้าหมายของธุรกิจเสมอ เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ถึงทิศทางที่ธุรกิจจะดำเนินต่อไป ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายของธุรกิจร้านอาหารคือ ขายอาหารให้ได้ตามยอดขายที่ตั้งไว้ เมื่อเรารู้ถึงเป้าหมายที่แน่ชัดของธุรกิจร้านอาหารแล้ว สิ่งที่ควรทราบต่อไปก็คือ วิธีการสร้างรายได้ของธุรกิจ นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์วิธีการสร้างรายได้ของธุรกิจว่า เหมาะสมกับตัวธุรกิจนั้นหรือไม่ เพราะวิธีการสร้างรายได้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ร้านอาหารสามารถที่จะตั้งราคาอาหารที่แพงขึ้นจากบรรยากาศร้านและการเพิ่มสิ่งบันเทิงต่างๆได้หรือไม่ ร้านอาหารต้องการขายในราคาถูกแต่ขายได้เยอะ หรือขายได้น้อยลงแต่ตั้งราคาต่อจานมากขึ้น เป็นต้น
การดำเนินงานของธุรกิจถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ สำหรับการวิเคราะห์การดำเนินงานของธุรกิจร้านอาหารนั้น นักลงทุนสามารถสังเกตได้จาก จำนวนสาขาครอบคลุมหรือไม่ ทำเลที่ตั้งเหมาะสมหรือเปล่า และมีลูกค้าจำนวนมากหรือไม่ที่ต้องการมาใช้บริการ เป็นต้น ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้จะทำให้นักลงทุนสามารถประเมินผลการดำเนินงานของตัวธุรกิจได้ว่าดีหรือไม่
สำหรับสามข้อที่ผ่านมานี้ จะทำให้นักลงทุนมีความเข้าใจในตัวของธุรกิจมากขึ้น ส่วนในข้อสุดท้าย นักลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ ตำแหน่งของตัวธุรกิจที่นักลงทุนสนใจกับคู่แข่ง เราปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจร้านอาหารมีการแข่งขันสูง เนื่องจากในปัจจุบันนี้ มีร้านอาหารมากมายให้เราเลือกรับประทาน แต่หากลองเปลี่ยนมาดูอุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จะพบว่ายี่ห้อของคอมพิวเตอร์ไม่ได้มีให้เลือกมากมายเหมือนร้านอาหาร ยี่ห้อที่เห็นกันโดยทั่วไป เช่น Acer, Apple, Dell, Samsung เป็นต้น นั่นอาจหมายถึง อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์มีการแข่งขันที่ไม่รุนแรงเท่ากับธุรกิจร้านอาหาร แต่อีกความหมายหนึ่งก็คือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งสองมีความเสี่ยงแตกต่างกัน การที่อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เมื่อเทียบกับร้านอาหาร ดังนั้นความเสี่ยงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ย่อมมีมากกว่าร้านอาหารแน่นอน และการคิดผลิตภัณฑ์ใหม่ของอุตสากรรมคอมพิวเตอร์อาจจะยากกว่า ส่งผลให้มีสินค้าให้เลือกในตลาดน้อยกว่า การแข่งขันทางราคาน้อยกว่า ที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถประเมินว่า ธุรกิจอยู่ในตำแหน่งที่จะสามารถรับมือกับการแข่งขันในตลาดได้ดีหรือไม่ และสามารถรับมือได้ในระดับใด
การคิดอย่างนักวิเคราะห์นี้ จะช่วยให้นักลงทุนมีความเข้าใจในบริษัทที่จะลงทุนมากขึ้น และยังทราบถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อบริษัท โดยนักลงทุนสามารถนำคำถามข้างต้นนี้ไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์บริษัทใดๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจ เพื่อค้นหาบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าบริษัททั่วไปก่อนการลงทุนทุกครั้ง อย่างไรก็ตาม การที่นักลงทุนจะหาบริษัทที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่าคู่แข่งได้นั้น การดูเพียงแค่ตัวเลขจากงบการเงินหรือดูภาพรวมของธุรกิจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ นักลงทุนควรต้องประเมินธุรกิจโดยการเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด เพื่อดูความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจในระยะยาว ว่าจะสามารถรักษากำไรของบริษัทในระยะยาวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ผู้ถือหุ้นได้หรือไม่ แนวคิดหนึ่งที่จะช่วยนักลงทุนตอบคำถามนี้คือ แนวคิด Economic Moat ที่ช่วยแบ่งประเภทหรือลักษณะของธุรกิจที่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้ ซึ่งแนวคิดนี้ทางมอร์นิ่งสตาร์ได้นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์หุ้นและประเมินมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทให้กับนักลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน
Economic Moat คืออะไร?
มอร์นิ่งสตาร์ให้นิยามแนวคิด Economic Moat ว่า ความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัทที่สามารถช่วยให้บริษัททำกำไรอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งแนวคิดนี้ยังได้ถูกใช้และกล่าวถึงจากนักลงทุนขวัญใจมหาชนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต์ ที่เชื่อว่า “บริษัทนั้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ในระยะยาวจะสามารถให้ผลตอบแทนที่งดงามกับนักลงทุนในอย่างยั่งยืน” โดยที่ Economic Moat จะเป็นตัวบ่งบอกว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน หรือกีดกันคู่แข่งที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดได้มากน้อยเพียงใด เพราะการที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นในตลาดทำให้การแข่งขันในตลาดสูงขึ้น จะทำให้โอกาสในการทำกำไรของบริษัทลดลงนั่นเอง
จากมุมมองของนักวิเคราะห์ บริษัทที่มี Economic Moat มักเป็นบริษัทที่มีความได้เปรียบในการทำกำไร และเป็นบริษัทที่มีปัจจัยทางโครงสร้างที่ได้เปรียบคู่แข่งในระยะยาว โดยทางมอร์นิ่งสตาร์ได้แบ่ง Economics Moat ออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.Wide และ 2.Narrow ซึ่ง 2 ประเภทนี้จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่บริษัทจะสามารถรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขันและการทำกำไรของบริษัทว่าเป็นระยะเวลานานเท่าไร และ 3.None สำหรับบริษัทที่ไม่สามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้หากมีคู่แข่งใหม่เข้ามาในตลาด ข้อได้เปรียบอีกประการของบริษัทที่มี Economic Moat คือ มีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทจะเพิ่มขึ้น และทำให้มูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มตามไปด้วย แต่หากนักลงทุนซื้อหุ้นของบริษัทที่ไม่มี Economic Moat มูลค่าหุ้นของบริษัทก็มีโอกาสที่จะลดลง
จะเห็นว่าในมุมมองของการลงทุนนั้น Economic Moat ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่นักลงทุนจะสามารถนำมาใช้เพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุน และเพิ่มโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่คาดหวังในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนสามารถฝึกวิเคราะห์ได้เองโดยวิเคราะห์จากการอ่านงบการเงิน หรือ รายงาน 56-1 ของบริษัท สำหรับรายละเอียดที่จะช่วยนักลงทุนตัดสินใจว่า บริษัทมี Economic Moat หรือไม่นั้น ทางมอร์นิ่งสตาร์จะนำเสนอในบทความต่อไป
บทความโดย นฤมล วงษ์นรา (Naruemon.Wongnara@morningstar.com)
เรียบเรียงโดย วุฒิชัย คงพัฒนสิริ (wuttichai.kongpattanasiri@morningstar.com)