เรียนรู้การลงทุนในกองทุนรวมดัชนี (Index Fund)

เสริมอาวุธในการลงทุนผ่านกองทุนรวม Index Fund อีกหนึ่งทางเลือกสำคัญของการลงทุนในหุ้นที่นักลงทุนไม่ควรพลาด

Facebook Twitter LinkedIn

ในปัจจุบันนักลงทุนหน้าใหม่ตบเท้าก้าวเข้ามาในตลาดหุ้นกันมากมาย ล้วนแล้วแต่มาพร้อมกับความฝันที่จะเลือกหุ้นดีๆเข้าพอร์ตการลงทุนของตัวเองโดยหวังที่จะกอบโกยกำไรจากตลาดหุ้นเช่นเดียวกับเซียนหุ้นหลายๆท่าน แต่ในความเป็นจริง การเลือกหุ้นเข้าพอร์ตไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งหากมีการซื้อขายบ่อยครั้งเข้า นักลงทุนจะต้องเผชิญกับค่าธรรมเนียมที่สูงตามไปด้วย  และบ่อยครั้งอาจทำให้นักลงทุนหน้าใหม่หันหลังให้กับตลาดหุ้นก็เป็นได้ วันนี้ผมมีหนึ่งทางเลือกในการลงทุนที่บางท่านอาจจะยังไม่คุ้นเคยนัก นั้นคือการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี หรือ Index fund มานำเสนอครับ

กองทุนรวมดัชนีคืออะไร ?

กองทุนรวมดัชนี เป็นกองทุนรวมที่มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับ (Passive Investment) เพื่อเลียนแบบดัชนีอ้างอิง (Benchmark) โดยเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะดัชนีหุ้นเท่านั้น อาจจะเป็นดัชนีตราสารหนี้ หรือสินทรัพย์ประเภทอื่นๆก็ได้ ในประเทศไทยนั้น ดัชนีอ้างอิงที่มักใช้กัน คือ SET50 หรือ SET100 Index อาทิเช่น กองทุนเปิด ยูโอบี สมาร์ท เซ็ท 50 (UOBSET50) กองทุนเปิดเค เซ็ท 50 (K-SET50) กองทุนเปิดทหารไทย SET50 (TMB50) เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราซื้อกองทุนรวมที่เลียนแบบ SET50 index หมายถึงเราได้ลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดที่ใหญ่ที่สุดทั้ง 50 ตัวในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผลตอบแทนของกองทุนควรจะใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด เช่น เมื่อผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงอยู่ที่ 20% กองทุนที่เราลงทุนก็ควรจะให้ผลตอบแทนที่ใกล้เคียง 20%และเช่นกันในทางตรงกันข้ามถ้าผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงนั้นติดลบ

ปัจจุบันในประเทศไทยมีกองทุนรวมดัชนีกว่า 20 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินรวมกว่า 30,000 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2557 ที่มา: บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)

ข้อดี

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า กองทุนรวมดัชนีมีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรับเพื่อเลียนแบบดัชนีอ้างอิงโดยเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงให้มากที่สุด ทำให้การเข้าซื้อขายหลักทรัพย์เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนที่ต่ำ จึงทำให้โดยรวมแล้วกองทุนมีค่าใช้จ่าย (Total expense ratio) ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก (Active Investment) นอกจากนี้การลงทุนในกองทุนรวมดัชนียังเป็นทางเลือกที่ดีในการกระจายความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน โดยเฉพาะความเสี่ยงรายตัวของบริษัท

ข้อด้อย

ข้อด้อยของการลงทุนในกองทุนรวมดัชนี คือ นักลงทุนไม่สามารถเลือกหุ้นเข้าพอร์ตการลงทุนได้ เมื่อซื้อกองทุนรวมดัชนีไปแล้ว นักลงทุนจะอยู่ในสถานะเสมือนว่าลงทุนในหุ้นทุกตัวที่กองทุนรวมดัชนีไปเลียนแบบมา หรืออีกนัยหนึ่งคือ อาจจะมีหุ้นที่นักลงทุนไม่ชอบหรือไม่ดีรวมอยู่ในกองทุนด้วยก็เป็นได้

ค้นหากองทุนรวมดัชนีที่ใช่

ในปัจจุบันกองทุนรวมดัชนีมีมากมายให้เลือกลงทุน แต่ก่อนที่จะลงทุน นักลงทุนควรศึกษาและพิจารณาถึง 4 ปัจจัยต่อไปนี้ ซึ่งนักลงทุนสามารถตรวจสอบข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากเว็บไซต์ Morningstar ครับ

  1. Total Expense Ratio คือ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กองทุนเรียกเก็บ โดยค่าใช้จ่ายของกองทุนรวมมักจะประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมการจัดการรายปี ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ ค่าธรรมเนียมนายทะเบียน และค่าที่ปรึกษาการลงทุน โดยที่เราควรจะหากองทุนที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก เนื่องจากจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น
  2. The initial charge บางกองทุนรวมดัชนีอาจจะมีค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน ซึ่งนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
  3. Tracking difference (TD) คือ ผลต่างของผลตอบแทนระหว่างกองทุนรวมกับดัชนีที่กองทุนใช้อ้างอิงในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น
  4. Tracking error (TE) คือ เครื่องมือในการวัดว่ากองทุนรวมดัชนีสามารถเลียนแบบดัชนีอ้างอิงได้ใกล้เคียงเพียงใด นักลงทุนควรพิจารณากองทุนที่มีค่า TE ต่ำ เพราะตัวเลข TE ที่ต่ำหมายถึงอัตราผลตอบแทนของกองทุนมีการเบี่ยงเบนออกไปจากดัชนีอ้างอิงในอัตราที่ต่ำ แสดงว่ากองทุนนี้มีประสิทธิภาพในการเลียนแบบดัชนีอ้างอิง

 

กองทุนรวมดัชนีนี้เหมาะสมกับนักลงทุนที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนมากนัก หรือ นักลงทุนที่ไม่มีเวลามากพอในการเลือกหุ้นรายตัว รวมไปถึงนักลงทุนที่ต้องการทางเลือกในการกระจายความเสี่ยง โดยทั่วไปแล้วกองทุนรวมดัชนีสามารถเสริมพอร์ตโฟลิโอของนักลงทุนได้หลายทางขึ้นอยู่กับดัชนีอ้างอิงของกองทุนและเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุน นอกจาก 4 ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น นักลงทุนจำเป็นต้องรู้จักดัชนีที่กองทุนรวมดัชนีใช้ในการเลียนแบบ วิธีการลงทุน และรายละเอียดอื่นๆก่อนเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมดัชนีหรือการลงทุนใดๆ นักลงทุนควรถามตัวเองว่าจุดประสงค์หรือเป้าหมายในการลงทุนของตัวเองคืออะไร ก่อนที่จะลงทุนเสมอ เพื่อวางแผนให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนในอนาคต

 

บทความโดย วุฒิชัย คงพัฒนสิริ (wuttichai.kongpattanasiri@morningstar.com)

จากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Post Today วันที่ 18 ก.พ. 2557) 

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar Analysts   -