ความสำคัญของอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout Ratio)

คุณเคยสงสัยไหมว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลนั้นสามารถบอกอะไรกับนักลงทุนได้บ้าง อัตราส่วนนี้สามารถช่วยนักลงทุนในการเลือกซื้อหุ้นได้อย่างไร แล้วทำไมอัตราส่วนนี้ถึงเป็นอัตราส่วนที่สำคัญที่นักลงทุนควรที่จะใส่ใจ

Facebook Twitter LinkedIn

บทความนี้จะช่วยให้นักลงทุนสามารถเข้าใจ ถึง ความหมายของอัตราการจ่ายเงินปันผล  รวมไปถึงการตีความจากตัวเลขของอัตราการจ่ายเงินปันผลของบริษัท  

อัตราการจ่ายเงินปันผลนั้นบอกอะไรกับนักลงทุน? อัตราการจ่ายเงินปันผลบอกถึงนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัท ว่าบริษัทนั้นมีนโยบายจ่ายปันผลเท่าใด ตัวอย่างเช่น บริษัท A มีกำไร อยู่ที่ 2 บาท ขณะเดียวกันนักลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทเป็นจำนวนเงิน 1 บาท นั้นหมายความว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลของบริษัทนั้นอยู่ที่ 50 % โดยสูตรคำนวณจาก อัตราการจ่ายเงินปันผล  =  เงินปันผลต่อหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น

อัตราการจ่ายเงินปันผลสามารถใช้เป็นปัจจัยที่ช่วยในการตัดสินใจในการซื้อหุ้นปันผลได้อย่างไร? นักลงทุนสามารถนำมูลค่าของอัตราส่วนการจ่ายเงินปันผลที่คำนวณได้ เป็นส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) สำหรับเงินปันผลที่นักลงทุนควรที่จะได้รับในกรณีที่กำไรสุทธิของบริษัทนั้นลดลง

ตัวอย่างเช่น บริษัท A ที่มีกำไรสุทธิของบริษัทอยู่ที่ 2 บาท และมีอัตราการจ่ายเงินปันผล อยู่ที่ 50 % เงินปันผลที่นักลงทุนควรจะได้รับนั้นจะอยู่ที่ 1 บาท (โดยคิดจาก กำไรสุทธิ 2 บาท คูณด้วย 50 %) ถ้าเกิดว่าปีนั้น กำไรสุทธิของบริษัท A ลดลงมาอยู่ที่ 1 บาท (ลดลงมา 50 %) นั้นหมายความว่า กำไรสุทธิ 1 บาท นั้นก็ยังคงเพียงพอสำหรับบริษัทที่จะ จ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนที่ 1 บาท (ถ้ากำไรสุทธิของบริษัทลดลงมากกว่า 1 บาทหรือ 50% กำไรสุทธิของบริษัทจะมีไม่เพียงพอ ที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผล)

ทีนี้เราลองมาดูว่า อัตราการจ่ายเงินปันผลนั้น สามารถมองในแง่มุมของ ส่วนเผื่อเพื่อความปลอดภัย (Margin of Safety) กับ กำไรสุทธิของบริษัทได้อย่างไร?

ถ้าบริษัท A มี อัตราการจ่ายเงินปันผล อยู่ที่ 80 % ในขณะเดียวกัน กำไรสุทธิของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 1.6 บาท (ลดลง 20% จาก 2 บาท) บริษัท A ยังคงมีกำไรสุทธิเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนที่ 1.6 บาท (คิดจาก กำไรสุทธิ 2 บาท คูณด้วยอัตราการจ่ายปันผลที่ 80 %) หรือถ้าบริษัท A มีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ 20% ในขณะเดียวกัน กำไรสุทธิของบริษัทลดลงมาอยู่ที่ 0.4 บาท (ลดลง 80% จาก 2 บาท) บริษัท A ยังคงมีกำไรสุทธิเพียงพอที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนที่ 0.4 บาท (คิดจาก กำไรสุทธิ 2 บาท คูณด้วยอัตราการจ่ายปันผลที่ 20 %)

จากกรณีนี้เราสามารถสรุปได้ว่า การที่เรามองอัตราการจ่ายปันผลของบริษัทเพียงอย่างเดียวนั้น อาจจะยังไม่พอ นักลงทุนเองจะต้องเผื่อความเสี่ยง ในกรณีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเวลาที่กำไรสุทธิของบริษัทลดลง อัตราการจ่ายเงินปันผลสามารถบอกนักลงทุนได้ ว่าบริษัทเองจะขาดทุนได้ไม่เกินเท่าไร ก่อนที่กำไรของบริษัทนั้นจะไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้กับผู้ถือหุ้น

ทีนี้มาถึงประเด็นสำคัญว่า ตัวเลขอัตราการจ่ายเงินปันผลเท่าไรจึงจะเหมาะสม? โชคไม่ดีนักที่เราไม่สามารถหาตัวเลขอัตราการจ่ายเงินปันผลที่เหมาะสม และสามารถนำไปปรับใช้ในทุกๆสถานการณ์ได้ แต่แน่นอนที่สุดตัวเลขอัตราการจ่ายเงินปันผลที่นักลงทุนไม่อยากเห็น นั้นก็คือ ตัวเลขอัตราการจ่ายเงินปันผลที่มากกว่า 100 % (หรือบริษัทมีกำไรไม่พอที่จะจ่ายปันผล) เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น นักลงทุนจะต้องวิเคราะห์เพิ่มเติมทั้งในส่วนของธุรกิจของบริษัทเอง นโยบายการจ่ายเงินปันผล สถานะทางการเงินของบริษัท รวมไปถึงวัฏจักรของธุรกิจว่ากำไรของบริษัทนั้นมีผลอย่างไรเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เครื่องดื่ม สาธารณูปโภค หรือ สื่อสารเครือค่ายคมนาคม บริษัทกลุ่มนี้ ส่วนมากมี รายได้ เงินสด และ กำไร ที่ค่อนข้างแน่นอน จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นบริษัทกลุ่มนี้มีอัตราการจ่ายเงินปันผลอยู่ที่ระหว่าง 40-50 % เหตุผลก็คือ บริษัทเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเก็บเงินสดไว้ใช้เพื่อการลงทุน แต่ในขณะเดียวกัน การเติบโตของบริษัทในกลุ่มนี้ก็ไม่มากเช่นเดียวกัน

ในทางกลับกันบริษัทที่อยู่ในกลุ่มโรงกลั่นซึ่งมีโอกาสที่จะขาดทุนได้สูงมากในช่วงของจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจ อัตราการจ่ายเงินปันผลเพียงแค่ 20 % ก็อาจจะไม่แน่ว่ากำไรของบริษัทจะเพียงพอที่จะจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเสมอไป

ฉะนั้นแล้วนักลงทุนเองควรที่จะมองในส่วนของ อัตราการจ่ายเงินปันผล ควบคู่ไปกับ อุตสาหกรรมของธุรกิจนั้นด้วย ว่า สอดคล้องกันหรือไม่ก่อนตัดสินใจลงทุน

 

บทความโดย พันฤทธิ์ เตชะธาดา (punrit.taechatada@morningstar.com)

จากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Post Today ธันวาคม 2556)

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Morningstar Analysts   -