มาถึงตอนนี้ระบบการเงินทั่วโลกกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น เศรษฐกิจและตลาดกำลังฟื้นตัว หากเราย้อนถามตัวเองว่าเราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตครั้งนั้น ทางมอร์นิ่งสตาร์มี 6 ข้อคิดมาฝากนักลงทุนกัน
อย่ามองข้ามหนี้สินจากการกู้ยืม (Financial Leverage) นักลงทุนควรจะมองลึกไปถึงหนี้สินของบริษัทก่อนจะตัดสินใจลงทุน การที่เรามองข้ามจุดนี้แล้วไปลงทุนในบริษัทที่มีสัดส่วนของหนี้สินมากเกินไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิด เศรษฐกิจตกต่ำ ส่วนของการกู้ยืมนี้จะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบทางลบต่อบริษัท จากวิกฤตครั้งนั้นนักลงทุนหลายคนได้เรียนรู้ว่าหนี้เหล่านี้สามารถทำให้สัดส่วนทุนของบริษัทลดลงอย่างมากจนอาจเหลือศูนย์ได้ ดังนั้นนักลงทุนจึงควรคำนึงถึงสุขภาพทางการเงินของบริษัทอย่างรอบคอบเพื่อผลตอบแทนในระยะยาว
การวางแผนการลงทุนที่ดีช่วยได้ยามวิกฤต หากนักลงทุนมีการวางแผนการลงทุนมาอย่างดี ตัดสินใจซื้อหุ้นจากปัจจัยพื้นฐานของบริษัท รวมไปถึงจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อเป้าหมายระยะยาว ถึงแม้ผลตอบแทนพอร์ตโฟลิโอจะลดลงเกินกว่าที่คาดไว้ในช่วงที่เกิดวิกฤต แต่ผลตอบแทนอาจจะดีดกลับมาสูงเกินกว่าที่คาดไว้ในระยะยาว มาถึงตอนนี้ สำหรับนักลงทุนที่ยึดมั่นกับแผนการลงทุนที่วางไว้ก็จะพบว่าตัวเองสามารถผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้อย่างไม่ยากนัก แต่สำหรับนักลงทุนที่ตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้วางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบจนตัดสินใจขายหุ้นในช่วงวิกฤต ก็อาจจะต้องมานั่งเสียดายทีหลังเมื่อหุ้นตัวนั้นดีดกลับขึ้นมาในตอนนี้
สภาพคล่องเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับวิกฤตครั้งนั้นนักลงทุนที่เสียหายมากที่สุดคือนักลงทุนที่ไม่สามารถถือหุ้นไว้ในมือแล้วรอให้วิกฤตผ่านไป ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากสภาพคล่องของนักลงทุนเองบวกกับจุดขาดทุนที่มากที่สุดที่นักลงทุนจะยอมรับได้ บทเรียนสำคัญก็คือพวกเขาคิดว่าหุ้นหรือสินทรัพย์ที่เขาลงทุนนั้นมีสภาพคล่องพอตัว แต่ที่จริงแล้วทั้งบ้าน สินทรัพย์ทางธุรกิจ กองทุนเฮดจ์ฟันด์หรือกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่มีเงื่อนไขห้ามขายหุ้นคืนในช่วงเวลาหนึ่งนั้นมีสภาพคล่องต่ำ เมื่อเกิดวิกฤตสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผลตอบแทนของพอร์ตโฟลิโอติดลบเพิ่มขึ้น ท้ายที่สุดเมื่อหมดสภาพคล่องนักลงทุนก็จำเป็นต้องขายสินทรัพย์ออกไปและยอมรับผลการขาดทุน ดังนั้นการวางแผนสภาพคล่องที่ดีจะช่วยให้นักลงทุนสามารถถือหุ้นไว้ในช่วงตลาดขาลง ยอมรับการขาดทุนทางบัญชี (Paper Loss) แต่จะสามารถกลับมามีผลตอบแทนเป็นบวกได้หลังจากที่ตลาดฟื้นตัวแล้ว
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่เหมือนกันทุกครั้ง หลายคนอาจมองว่าการฟื้นตัวหลังจากวิกฤตครั้งนั้นเป็นไปอย่างช้าๆ นั่นเป็นเพราะว่าสาเหตุหลักมีรากฐานมาจากฝั่งการเงินที่นับได้ว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เศรษฐกิจถดถอยที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยมีมา ไม่ใช่แค่การถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจของมอร์นิ่งสตาร์กลับมองว่า การฟื้นตัวอย่างช้าๆครั้งนี้จะช่วยให้การเติบโตเป็นไปอย่างยั่งยืน สำหรับในอเมริกา ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว ราคาที่อยู่อาศัยขยับขึ้นมายังไม่ถึงครี่งหนึ่งของที่เคยเป็น เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีและสามารถโตได้อีกมากในระยะยาว
อย่าพยายามจับจังหวะการลงทุน (Market Timing) ถึงแม้นักลงทุนหลายคนจะออกจากตลาดไปแต่ก็มีนักลงทุนอีกมากที่รอดจากวิกฤตครั้งนั้นมาได้และยังพบว่าพอร์ตโฟลิโอให้ผลตอบแทนที่มากกว่าก่อนเกิดวิกฤตเสียอีก หากเรามองจุดนี้ให้ดีจะพบว่า หลายๆสิ่งที่นักลงทุนเหล่านี้ทำสามารถช่วยให้รอดพ้นวิกฤตได้ไม่ยาก ทั้งการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ ปรับพอร์ตฟอลิโอ (Rebalance) ตามเป้าหมายที่วางไว้ ลงทุนอย่างเสมอต้นเสมอปลาย (อาจจะช่วยได้ด้วยวิธี Dollar-cost average) และที่สำคัญคืออย่าพยายามจับจังหวะการลงทุนเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้นๆ
อย่าใช้อารมณ์และความรู้สึกในการลงทุน บทเรียนหนึ่งที่นักลงทุนได้รับคือการขาดทุนจากตลาดหุ้นในช่วงวิกฤตจนทำให้ไม่กล้าที่จะลงทุนอีก แต่จริงๆแล้วนักลงทุนควรจะใช้โอกาสนี้เรียนรู้ที่จะแยกความรู้สึกของตัวเองออกจากการลงทุน ไม่ใช่แค่ความกลัวว่าตลาดจะลง แต่รวมไปถึงความอยากที่เกิดขึ้นในช่วงตลาดขาขึ้นเช่นกัน หลายๆครั้งที่อารมณ์เหล่านี้ทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อขายในเวลาที่ไม่เหมาะสม และยิ่งทำให้ผลลัพธ์แย่ลงในช่วงที่เกิดวิกฤต
บทความโดย ชิสา รัศมีสังข์ (shisa.ratsamessang@morningstar.com)
จากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Post Today วันที่ 28 ตุลาคม 2556)