ตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา กระแสความแรงของตลาดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า ตลาด SEA มีการเติบโตให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทย อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ โดยจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานของกองทุน ETF ที่ลงทุนในประเทศเหล่านี้ การเติบโตนี้เป็นผลมาจากการใช้จ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือนและธุรกิจ รวมไปถึงนโยบายการเงินและการคลังที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ตลาด SEA เป็นที่น่าจับตามองมากกว่าประเทศในตลาดเกิดใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าอย่างจีน อินเดีย และบราซิล ที่มีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
ตลาดขาขึ้น พร้อมกับปัจจัยที่ต้องจับตามอง
IMF ธนาคารโลก และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ต่างก็คาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศในตลาด SEA ว่ามีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างคงที่ ด้วยตัวเลขประมาณการณ์การเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 4-6% ในช่วงสองปีข้างหน้าสำหรับ 4 ประเทศหลักในตลาด SEA คือ ไทย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ปัจจัยที่สำคัญที่ส่งเสริมการเติบโตนี้ ได้แก่ การเติบโตของการใช้จ่ายและการลงทุนสาธารณูปโภคในประเทศ การเติบโตของการค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ในตลาดโลกที่ช่วยสนับสนุนให้ประเทศเหล่านี้สามารถส่งออกได้มากขึ้น รวมไปถึงการที่ประเทศเหล่านี้มีอัตราการว่างงานในระดับต่ำ ในขณะที่ค่างจ้างแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการเกิดฟองสบู่ในประเทศเหล่านี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดขาขึ้นที่มีกระแสแรงอย่างตอนนี้ สำหรับในประเทศไทยเอง ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้แสดงให้เห็นว่าระดับหนี้สินภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% ต่อปีในช่วงสามปีมานี้ สัญญาณการเก็งกำไรในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มก่อตัว และค่าเงินบาทแข็งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปีเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาจากการที่มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าเป็นจำนวนมากมาลงทุนทั้งทางตรงและผ่านตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ ในส่วนของประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียนั้น สัญญาณเหล่านี้ก็เริ่มก่อตัวและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแล้วเช่นกัน นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามถึงแม้ตอนนี้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับปกติ แต่การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกประกอบกับการที่เศรษฐกิจของ SEA อยู่ในช่วงที่ใช้ศักยภาพเต็มกำลังแล้ว อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้
สำหรับภาวะตลาดตอนนี้นั้นยังไม่ถึงขั้นน่าวิตกกังวลเท่าใดนัก เมื่อดูข้อมูลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์หรือหนี้สิ้นของภาคครัวเรือนที่ยังไม่ได้มีขนาดใหญ่มากถึงเข้าขั้นวิกฤตและยังอยู่ในระดับที่ไม่มากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงปี 2000-2012 อีกทั้งตลาด SEA ได้มีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมากว่า 10 ปี ประกอบกับสถานะการคลังของรัฐบาลที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ รวมไปถึงสถานะงบดุลของภาคธนาคารและภาคธุรกิจมีความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนในระดับต่ำกว่าเมื่อครั้งเกิดวิกฤต ถึงแม้ว่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์จะมีการดึงเงินลงทุนของต่างประเทศออกไปบ้าง ภาคระบบการเงินการธนาคาร การเติบโตของเศรษฐกิจ รวมไปถึงภาวะอัตราแลกเปลี่ยนก็สามารถยืดหยุ่นและกลับสู่สภาพปกติได้ในเวลาอันรวดเร็ว จากข้อมูลของธนาคารโลกจะพบว่า ในปี 2012 ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีการเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในขณะที่อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะสามารถเป็นตัวช่วยให้ประเทศสามารถรับมือกับเงินทุนไหลออกแบบฉับพลันได้ดีขึ้น
การไหลเข้าของเงินทุนยังคงสนับสนุนความแรงของตลาด
กองทุน iShares MSCI Philippines Investable Market, iShares MSCI Thailand Capped Investable Market, iShares MSCI Indonesia Investable Market, and Market Vectors Indonesia กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในอนาคตระยะสั้น เนื่องจากตลาด SEA มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี อีกทั้งมาตรการ QE ในสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นก็ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าตลาดเหล่านี้มากขึ้นด้วยเช่นกัน ธนาคารโลกได้ประมาณการว่าเงินทุนที่จะไหลเข้าสู่ตลาด Asia ex-Japan (ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดเงินกู้ภาคธนาคาร) จะเพิ่มขึ้นไปถึงระดับที่ 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาสแรกของปี 2013 ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตถึง 86.3% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และส่วนที่น่าจับตามองคือเงินที่ไหลเข้าตลาดทุน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวไปถึง 13,200ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เมื่อเราลองประเมินมูลค่าตลาดของประเทศเหล่านี้ ประเทศฟิลิปปินส์ดูเหมือนมีมูลค่าแพงที่สุดเมื่อเทียบ PE ratio 12 เดือนล่าสุด ตลาด SEA อื่นๆก็ดูมีมูลค่าที่แพงเช่นกันเมื่อเทียบกับหลายๆปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามตลาดส่วนใหญ่ (ยกเว้นฟิลิปปินส์) ก็ยังคงมีมูลค่าที่เหมาะสม (fairly valued) เมื่อเทียบกับ S&P 500
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่า การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในแต่ละประเทศในตลาดเกิดใหม่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียวสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูง เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์จะยังคงมีแรงเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่มูลค่าปัจจุบันได้แสดงให้เห็นว่าตลาดเหล่านี้อาจเหมาะกับการลงทุนแค่ในระยะสั้นถึงปานกลาง นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับพื้นฐานของตลาดในแต่ละประเทศให้ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้น และควรระมัดระวังปัจจัยความเสี่ยงจากทั่วโลก เพราะว่าในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง นักลงทุนส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ก็คือหลักทรัพย์จากตลาดเกิดใหม่นั่นเอง
Edited by:
Shisa Ratsameesang
Prapapan Rungruangwuddikrai