ในช่วงที่ตลาดหุ้นบ้านเรามีความผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนอาจจะต้องหันมาศึกษาข้อมูลอื่นๆเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อช่วยในการตัดสินใจลงทุน อาทิเช่น งบการเงิน และ Ratio สำคัญต่างๆ และหนึ่งใน Ratio ที่นักลงทุนคุ้นเคยและใช้กันแพร่หลายก็คือ อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือที่เรียกว่า P/E Ratio สำหรับนักลงทุนที่ได้อ่านบทวิเคราะห์จากหลากหลายแห่งอาจจะสงสัยว่า ทำไม P/E Ratio แต่ละที่นั้นไม่ตรงกัน ทำไมถึงมี P/E Ratio หลายประเภท และแต่ละประเภทต่างกันอย่างไร เรามาทำความเข้าใจกับ Ratio ที่สำคัญนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการลงทุนของเรา
P/E Ratio ถือว่าเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการประเมินมูลค่าของหุ้น หุ้นที่มี P/E Ratio สูงนั้นอาจมีสาเหตุมาจากการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าบริษัทจะทำกำไรได้เพิ่มขึ้นในอนาคต จึงยอมที่จะจ่ายแพงกว่า ส่งผลให้ P/E Ratio สูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม หุ้นที่มี P/E Ratio ต่ำ เป็นเพราะนักลงทุนมีความคาดหวังกับการเพิ่มขึ้นของกำไรในอนาคตน้อยกว่า จึงยอมจ่ายในราคาที่ถูกกว่า ยกตัวอย่างเช่น หุ้นที่มี P/E เท่ากับ 10 อาจถูกมองว่าถูกมาก เมื่อเทียบกับหุ้นที่มี P/E เท่ากับ 25 ซึ่งการใช้ P/E Ratio นั้นจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อใช้เปรียบเทียบบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทในกลุ่มเทคโนโลยี ซึ่งมักมีแนวโน้มการเจริญเติบโตที่ดีกว่าย่อมจะมี P/E Ratio ที่สูงกว่าบริษัทในกลุ่มสาธารณูปโภคซึ่งมีแนวโน้มการเจริญเติบโตและมูลค่า P/E ที่ต่ำกว่า เป็นต้น
การคำนวณ P/E
วิธีการคำนวณค่า P/E Ratio ทำได้โดยการใช้ราคาปัจจุบันหารด้วยกำไรต่อหุ้น (Earning per share: EPS) โดยส่วนมากมักนิยมใช้ผลกำไรในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา (Trailing Twelve Months: TTM) สมมติว่าราคาหุ้นเท่ากับ 10 บาท และมีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท ดังนั้น P/E Ratio ของหุ้นตัวนี้จะเท่ากับ 5 ส่วนวิธีการเลือกกำไรของบริษัทมาคำนวณหา P/E Ratio นั้นก็จะขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนจะใช้กำไรแบบใดในการคำนวณ ทาง Morningstar แนะนำให้นักลงทุนลองดู P/E Ratio ทั้ง 2 แบบ ประกอบกันไป คือ P/E Ratio ที่คำนวณมาจากกำไรของบริษัทในช่วงปีที่ผ่านมา (Backward-looking P/E) และ P/E ที่มาจากการคาดการณ์ล่วงหน้าไปอีก 1 ปี (Forward-looking P/E) ที่มาจากนักวิเคราะห์ โดยวิธีการใช้การคำนวณ P/E Ratio ในแต่ละแบบนั้นก็มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
การใช้ Backward-looking P/E นั้นมีข้อดีคือ เราใช้กำไรที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินการของบริษัท ทำให้เราสามารถนำไปตรวจสอบว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ถูกหรือผิดไปจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ส่วนข้อเสียคือ เราจะไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในอนาคต เช่น การออกขายผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผมต่ออุตสาหกรรมที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่
การใช้ Forward-looking P/E นั้นมีข้อดีคือ จะช่วยประมาณความสามารถในการทำกำไรในอนาคตจากข้อมูลที่บริษัทนำเสนอ ทำให้นักลงทุนมองเห็นภาพว่าบริษัทจะดำเนินไปในทิศทางใด นั่นอาจจะเป็นจุดที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจว่าจะซื้อ ขาย หรือถือเพื่อลงทุนในบริษัทนี้ต่อไป ส่วนข้อเสียนั้นอาจเกิดจากการคาดการณ์อนาคตผิดพลาด ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อมูลที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือเกิดจากความผิดพลาดในการคำนวณของนักวิเคราะห์ เป็นต้น
ติดตามตอนที่ 2 ในครั้งต่อไป
บทความจากคอลัมน์ Five-Star Investor (หนังสือพิมพ์ Posttoday วันที่ 14 พ.ค. 2556)