ความเสี่ยงใหญ่ 4 ด้านของตลาดตราสารหนี้
Morningstar - 06/11/2567
บทความนี้ได้รวบรวมความเสี่ยง 4 ด้านใหญ่สำหรับตลาดตราสารหนี้ได้แก่ Price risk, Interest-rate risk, Inflation risk, Credit risk เพื่อให้นักลงทุนเข้าใจปัจจัยที่มีผลต่อตลาดตราสารหนี้และเตรียมพร้อมรับความผันผวน รวมไปถึงช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ลงในอนาคตได้
ความเสี่ยงด้านราคา
การเข้าซื้อขายตราสารในตลาดนั้นส่งผลให้ราคาของพันธบัตรหรือราคาของตราสารเปลี่ยนแปลงและส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยหรือ Bond yield ของตราสารนั้นๆเปลี่ยนแปลงไปด้วย
สำหรับตราสารหนี้ที่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ (Fixed-rate coupon) ผลตอบแทนหรือ Yield ในตลาดจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงข้ามกับราคาของตราสาร หากนักลงทุนต้องการขายมากๆราคาของตราสารก็จะปรับลดลง แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยจ่ายนั้นคงที่แปลว่าอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ Yield ที่ได้รับก็จะสูงขึ้นจากการที่ราคาปรับลดลง ในทางกลับกันหากมีนักลงทุนต้องการซื้อมากๆราคาของตราสารนั้นก็จะปรับสูงขึ้นมากจนทำให้อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ Yield ปรับลดลงนั่นเอง
ดังนั้นตราสารที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่เท่ากัน แต่อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงหรือ Yield ที่ได้รับอาจแตกต่างกัน เนื่องจากขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยจ่ายหรือ Coupon payments ว่าเป็นเท่าใดด้วย นักลงทุนจึงควรประเมินราคาที่เหมาะสมของตราสารในการลงทุนและความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นได้ด้วยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และความเสี่ยงของตราสารเอง
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและ Duration
ในสภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวนานมักจะมีความผันผวนที่สูง ทั้งนี้ระหว่างช่วงมีนาคม 2020 ถึงตุลาคม 2023 พบว่า Morningstar US 10+ Year Treasury Bond Index ให้ผลตอบแทนติดลบสะสม 47.61% หลังจากที่ 10-year Treasury yield ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.54% เป็น 4.98%
ทั้งนี้จากการวัดค่าความสัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารต่อการเปลี่ยนแปลงของ Bond yield 1% พบว่าพอร์ตโฟลิโอที่มีค่าเฉลี่ยการลงทุนที่ Duration 3 ปี จะขาดทุนประมาณ 3% หาก Bond yield เพิ่มขึ้น 1% และหาก Duration 5 ปี จะขาดทุนประมาณ 5%
ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อ
ตลอดปีที่แล้ว ตราสารหนี้ในกลุ่ม Investment-grade ขาดทุนเกือบ 6% หากผลตอบแทนหรือ Bond yield เพิ่มขึ้น 1% โดย Morningstar US Core Bond Index ปรับลดลงใกล้ระดับต่ำสุดที่เคยเป็นในช่วงเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากนั้นราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปีหลังจากที่ Bond yield ลดลงเกือบ 1% ทั้งนี้ตลอดระยะเวลามากกว่าเจ็ดปีในช่วง 1 กรกฎาคม 2016 ถึง 31 ตุลาคม 2023 เป็นช่วงเวลาการลงทุนที่แย่ที่สุดของตลาดตราสารหนี้กลุ่ม Investment-grade นับตั้งแต่ปี 1976
ผลจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ใช้นโยบายการเงินในการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีอสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน รวมไปถึงภาวะที่เกิดปัญหาต่อห่วงโซ่อุปทานจนเกิดการขาดแคลนสินค้าในช่วงโควิดจนไปความขัดแย้งทางการเมืองก็ยิ่งทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นมากตั้งแต่ปี 2021 จนกำลังซื้อในรูปดอลลาร์สหรัฐนั้นถดถอยอย่างมากจากต้นทุนสินค้าและบริการที่สูงขึ้น
Bond Market Longest Underperformance Period Vs. Consumer Price Index Inflation
จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทำให้ธนาคารกลางสหรัฐทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 11 ครั้งหรือขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 5.25% นับตั้งแต่มีนาคม 2022 - กรกฏาคม 2023 รวมถึงหยุดการเข้าซื้อพันธบัตรและตราสารหนี้ในตลาด ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อที่เคยปรับขึ้นสูงถึง 9.06% ในเดือนมิถุนายน 2022 ค่อยๆปรับลดลงจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐมั่นใจว่าเงินเฟ้อกลับมาสู่ภาวะปกติและตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 50 basis points ในเดือนกันยายน 2024 ที่ผ่านมานี้
ดังนั้นจึงเป็นความผิดพลาดอย่างมากหากไม่คำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อด้วยในการลงทุน ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2016 ถึง 31 ตุลาคม 2023 เป็นช่วงที่แย่มากสำหรับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหากรวมผลของเงินเฟ้อเข้าไปด้วยผลตอบแทนที่ได้ก็ยิ่งแย่กว่าเดิม
Longest Inflation-Adjusted Underperformance Period for Intermediate US Government Bonds
ความเสี่ยงด้าน Credit
หรือความสามารถในการชำระคืนหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจ่ายอย่างตรงเวลา ทั้งนี้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้จัดอันดับความน่าเชื่อถือของผู้กู้โดยประเมินจากความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ หากความน่าเชื่อถือต่ำก็จะถูกจัดอันดับด้วย Rating ที่ต่ำเช่นกัน และแม้การประเมิน Credit risk จะคำนึงถึงความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้แล้ว แต่หากนักลงทุนยังมีความกังวลต่อความสามารถที่จะจ่ายคืนจากกระแสเงินสดในอนาคต ก็มีแนวโน้มที่ราคาตราสารจะถูกซื้อในราคาที่ต่ำลงแม้ว่าในท้ายที่สุดผู้ออกตราสารจะจ่ายคืนหนี้ได้ครบถ้วนปกติก็ตาม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนที่ต้องการขายตราสารนั้นๆออกไปก่อนจะครบกำหนดอายุนั่นเอง
Option-adjusted spread จึงเป็นการหาผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนที่นักลงทุนในตลาดต้องการได้มากกว่าตราสารภาครัฐที่มีอายุครบกำหนดเท่ากัน เช่น ผลตอบแทนของตราสารหนี้เอกชนอยู่ที่ 6% เทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่ให้ผลตอบแทน 1% หากถือจนครบกำหนด แปลว่า Bond spread เท่ากับ 5% นั่นเอง ทั้งนี้ Spread จะกว้างขึ้นในสภาวะที่ดูมีความเสี่ยงสูงขึ้นและ Spread จะแคบลงเมื่อความเสี่ยงลดลง ยิ่ง Spread กว้างขึ้นผลตอบแทนจากราคาตราสารก็แย่ลงเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากต้องเสนอ Yield ที่สูงขึ้นและทำให้ราคาตราสารหนี้ปรับลดลง
ที่ผ่านมา Option-adjusted credit spreads นั้นกว้างขึ้นมากในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 จากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส และกว้างขึ้นอีกในปี 2022 – 2023 ท่ามกลางแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น แต่โดยรวม Spread ไม่ได้กว้างขึ้นมากเท่าช่วงปี 2008 และหากดูในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเรื่องความสามารถในการชำระหนี้อย่างเช่นกลุ่ม High-yield bonds และ Leveraged loans จะพบว่า Spread นั้นกว้างขึ้นมากในปี 2020
Credit Spreads: High-Yield Bonds and Leveraged Loans
และหากดูผลตอบแทนสะสมในแต่ละช่วงเวลาที่แย่ของตลาดตราสารหนี้ จะพบว่าตราสารหนี้กลุ่มที่มีความเสี่ยงเรื่อง Credit สูงจะให้ผลตอบแทนที่แย่มากในช่วง Financial crisis (2007-2008) และช่วงต้นปี 2020 ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงสูงจะให้ผลตอบแทนที่แย่กว่าในช่วงปี 2022
Bond Sectors: Peak-to-Trough Cumulative Losses Across Three Market Periods