นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา กลุ่มกองทุนที่มีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดคือกลุ่มกองทุนทองคำ (Commodities Precious Metals) โดยอยู่ที่ 5.90% ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความเสี่ยงในการลงทุนตราสารประเภทอื่นค่อนข้างสูงจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ในรอบนี้ค่อนข้างชัดเจนว่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจาก COVID-19 ที่ยังไม่อาจบอกได้ว่าจะสามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้เมื่อไหร่ ในขณะที่ตลาดทุนทั่วโลกปรับตัวในแบบขาลงท่ามกลางสภาวะผลตอบแทนระดับต่ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องจากปี 2019
ในขณะที่สินทรัพย์ประเภท commodities อีกประเภทคือน้ำมัน แสดงภาพที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงโดยมี โดย ณ วันที่ 13 มีนาคม ผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนกลุ่ม Commodities Energy อยู่ที่ -37.65% ซึ่งเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่ม ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันลดลงคือการทำสงครามราคาน้ำมันโดยประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่คือซาอุดีอาระเบียและรัสเซียที่ยังมีท่าทีจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันแม้ว่าฝั่งอุปสงค์น้ำมันจะลดลงทั่วโลกจากผลกระทบ COVID-19 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ากองทุนน้ำมันมีผลตอบแทนโดยเฉลี่ยติดลบทั้งในช่วงระยะสั้นและระยะยาว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่สูงมากของการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้
กลุ่มกองทุนตราสารทุน
ถัดมาที่กลุ่มกองทุนสินทรัพย์เสี่ยงอีกประเภทอย่างกองทุนตราสารทุนหรือหุ้น จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ต้นปีทุกกลุ่มกองทุนตราสารทุนมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ โดยกองทุนหุ้นญี่ปุ่นหรือ Japan Equity มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากที่สุดหรือ -27.88% ตามมาด้วยกองทุนหุ้นไทยที่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large-Cap) -26.95% กลุ่มหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็กก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยใกล้เคียงกันคือ -25.01% โดยเกือบทุกกลุ่มมีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากกว่า 10% ซึ่งมักเป็นผลมาจากการปรับตัวลงค่อนข้างแรงในเดือนกุมภาพันธ์ ยกเว้นกองทุนหุ้นจีน (China Equity) ที่ -8.31% โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีการฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวลงไปก่อนภูมิภาคอื่นในเดือนมกราคม อย่างไรก็ตามหากดูในระยะยาวจะพบว่ากลุ่มกองทุนตราสารทุนหลายกลุ่มยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก
กลุ่มกองทุนผสม
ในช่วงนี้คงคาดเดาได้ไม่ยากว่ากลุ่มกองทุนผสมกลุ่มใดจะให้ผลตอบแทนติดลบมากที่สุด ซึ่งก็คือกลุ่ม Aggressive Allocation ที่จะมีสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงสุด นับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 13 มีนาคม กองทุนกลุ่มนี้มีผลตอบแทนเฉลี่ย -17.42% ในขณะที่กองทุนกลุ่ม Moderate Allocation อยู่ที่ -12.98% และ Conservative Allocation -5.37% ซึ่งเกิดจากมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ที่มากกว่านั่นเอง หากนักลงทุนจำกันได้ ก่อนหน้านี้ทางมอร์นิ่งสตาร์เคยนำเสนอบทความผลตอบแทนเฉลี่ยกองทุนในลักษณะนี้มาก่อน ซึ่งอยู่ในช่วงที่ตลาดปรับตัวขึ้นทำให้กลุ่ม Aggressive Allocation มีผลตอบแทนที่ดีกว่ากลุ่มอื่น
กลุ่มกองทุนตราสารหนี้
หากเทียบกับตราสารประเภทอื่นกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่ได้ผลตอบแทนดีกว่า นำโดยกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศแบบ term fund ที่เฉลี่ยมากกว่า 1% ตามมาด้วยตราสารหนี้ไทยทั้งแบบ term fund และกองทุนเปิด ซึ่งกลุ่ม Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ถือว่าได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมากจากถภาวะตลาดทุนที่มีความผันผวนสูง และยังไม่มีปัจจัยใดที่ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ระยะนี้ จึงทำให้กองทุนตราสารหนี้ไทยทั้ง 2 กลุ่มนี้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมกันในช่วง 2 เดือนแรกมากกว่า 1 แสนล้านบาท
สำหรับนักลงทุนที่ยังไม่ทราบว่ากองทุนที่ถืออยู่นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มใด นักลงทุนสามารถเข้าไปดูได้ในหน้า ตัวช่วยค้นหากองทุน ซึ่งสามารถคลิกได้ในหน้าหลักใต้หมวดเครื่องมือ หรืออีกทางเลือกหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องมือใหม่ในหน้าเว็บไซต์ โดยคลิกไปที่เมนู กองทุน ในหน้าหลัก ซึ่งนักลงทุนจะสามารถใส่ชื่อกองทุน หรือ fund code หรือแม้กระทั่ง ISIN จึงทำให้นักลงทุนสามารถค้นหากองทุนได้ง่ายขึ้น