ขณะนี้หน้า “จัดการพอร์ตโฟลิโอ” อยู่ในระหว่างปรับปรุงและดำเนินการเพื่อให้กลับมาใช้งานได้ปกติอย่างเร่งด่วน ทางมอร์นิ่งสตาร์ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้

Awards Winner - Equity Large Cap

Morningstar Awards 2015 ประเภทกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ได้แก่ กองทุนเปิด วรรณ เอเอ็มเซ็ท 50

Facebook Twitter LinkedIn

Awards Logo 2015

          ความโดดเด่นของผลตอบแทนที่สามารถทำได้สูงถึง 22.97% ต่อปีตลอด 5 ปีย้อนหลังที่ผ่านมาของ กองทุนเปิด วรรณ เอเอ็มเซ็ท 50 (1AMSET50) และกลยุทธ์ในการลงทุนที่แม่นยำ ชัดเจน ถือเป็นจุดเด่นจนทำให้กองทุนได้รับรางวัล Morningstar Awards 2015 ประเภทกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap)

นักลงทุนหลายท่านได้ยินชื่อกองทุนเปิด วรรณ เอเอ็มเซ็ท 50 (1AMSET50) แล้วอาจจะเผลอนึกไปว่ากองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนประเภท Index Fund แต่แท้จริงแล้วกองทุนนี้เป็นกองทุนที่เน้นการบริหารกองทุนเชิงรุก (Active management) ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนให้เกิดผลตอบแทนส่วนต่าง (Alpha) มากกว่า ดัชนี SET50 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานของกองทุน

กลยุทธ์การลงทุนที่สำคัญของกองทุนคือ เน้นการสร้างผลตอบแทนภายใต้การจัดพอร์ตการลงทุนแบบ Core and Satellite (Core คือ การลงทุนหลักที่เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อให้ผลตอบแทนสอดคล้องกับไปตลาด ขณะที่ Satellite คือ การลงทุนส่วนเพิ่มที่นอกเหนือจากการลงทุนหลักเพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับพอร์ตการลงทุน) เพื่อบริหารผลตอบแทนทั้งในลักษณะของสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับ SET50 Index และสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนฯ ให้ได้ประมาณ 3-10% ต่อปี โดยกองทุนเน้นใช้กลยุทธ์การคัดเลือกหุ้น (Stock Selection) ในหุ้นสามัญเพียงประมาณ 25-30 หลักทรัพย์

โดยกองทุนฯ นี้จะเน้นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่และมีสภาพคล่องสูง แต่อาจมีการกระจายการลงทุนบางจังหวะในหุ้นขนาดกลางและเล็กบางส่วนเพื่อผลตอบแทนส่วนเพิ่ม ทำให้กองทุนฯ สามารถสร้างผลตอบแทนได้โดดเด่นและสม่ำเสมอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาปรับพอร์ตการลงทุนไปตามความเหมาะสมของสภาวะตลาดเพื่อสร้างผลตอบแทนหลังปรับความเสี่ยง (Risk Adjusted Return) ให้มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยในช่วงที่สถานการณ์ตลาดหุ้นผันผวนและมีความเสี่ยงสูง ผู้จัดการกองทุนจะลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้น และตัดสินใจเพิ่มน้ำหนักอีกครั้งหากพิจารณาแล้วว่าตลาดเริ่มมีความผันผวนต่อและมีแนวโน้มหุ้นที่เติบโต

การบริหารความเสี่ยงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ทาง บลจ.วรรณ ให้ความสำคัญ ซึ่งทีมผู้จัดการกองทุนได้มีการทำงานควบคู่กับฝ่ายบริหารความเสี่ยง (Risk Management) อย่างใกล้ชิดเพื่อนำเอาเครื่องมือต่างๆที่มีการพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการกองทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอ และ อยู่ภายใต้กรอบความเสี่ยงที่กำหนด

ในปี 2558 นี้ ทางกองทุนฯ ยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยอยู่ แม้ว่าจะมีความผันผวนระหว่างทางบ้าง โดยมองว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง จากประโยชน์ของการลงทุนในขนาดใหญ่ (Mega Project) การขยายตัวของ AEC และประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงซึ่งส่งผลบวกต่อการปรับลดลงในต้นทุนขนส่งระหว่างไปยังปลายทาง / กลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ จากเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้และส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น / กลุ่มโรงพยาบาล จากแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการรักษาพยาบาลที่กลับมามากขึ้น การ M&A ระหว่างโรงพยาบาลด้วยกัน และการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวและสิทธิประกันสังคม / กลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์ จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง รวมทั้งแนวโน้มการควบรวมกิจการระหว่างกลุ่มด้วยกันเอง ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินและมีศักยภาพในการเติบโตต่อไป

ขณะที่ในด้านมูลค่าหุ้นไทย ราคาหุ้นต่อกำไร (PE) ไทยแม้จะปรับตัวสูงกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคเอเชีย แต่ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับเมื่อเทียบกับ TIP Region ด้วยกันและนักลงทุนต่างชาติก็ทยอยขายหุ้นไทยออกไปมากแล้วในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ Downside Risk ของแรงขายนักลงทุนต่างชาติน่าจะจำกัดมากขึ้นและมีความเป็นไปได้ที่จะมีสถานะพลิกกลับมาเป็นผู้ซื้อสุทธิในหุ้นไทยปีนี้ได้ โดยมองว่าปีนี้ SET Index น่าจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบที่ระดับ 1,700 จุดได้ในช่วงกลางปี 2558 นี้

ขณะที่ในช่วงถัดไป แม้ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากท่าทีของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐอเมริกา แต่เนื่องจากกองทุนฯ มีการปรับพอร์ตและ Monitor การลงทุนอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งทางผู้จัดการกองทุนจะมีการประชุมการลงทุน (Investment Committee)  ในทุกสัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ ทำให้กองทุนฯ สามารถปรับพอร์ตการลงทุนได้ทันท่วงทีและส่วนใหญ่แล้วปัจจุบันกองทุนฯ เองก็เน้นการลงทุนในส่วนที่เป็น Domestic Play อยู่แล้ว ดังนั้น คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐอเมริกาไม่มากนัก

Facebook Twitter LinkedIn

About Author

Kittikun Tanaratpattanakit

Kittikun Tanaratpattanakit  Senior Research Analyst